หุ่นยางเสมือนจริง ลดต้นทุน-ฝึกมือหมอ

หุ่นยางเสมือนจริง  ลดต้นทุน-ฝึกมือหมอ

ประสบการณ์ของแพทย์สู่อุปกรณ์การเรียนการสอนจากยางพารา ช่วยฝึกปรือเพิ่มทักษะให้บุคลากรทางการแพทย์ นำร่องหุ่นจำลองเพื่อฝึกหัตถการสู่ชุดฝึกเย็บแผลด้วยนวัตกรรมจากน้ำยางทดแทนหุ่นจำลองซิลิโคนราคาสูงจากต่างประเทศ

จับมือการยางแห่งประเทศไทย ผลิตจำหน่ายโรงเรียนแพทย์มากกว่า 2 แสนชุดต่อปี ในราคาถูกกว่า 10 เท่า

“หุ่นจำลองต่างๆ ของต่างประเทศจะใช้ซิลิโคนเป็นวัสดุหลัก เราจึงมองว่า ยางพาราของไทยน่าจะทำได้ นอกจากราคาถูก ยังช่วยส่งเสริมวัตถุดิบในประเทศอีกด้วย” ผศ.พญ.จรินรัตน์ สิริรัฐวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าว

นวัตกรรมจากสวนยาง

แพทย์มือใหม่จะไม่น่ากลัว ถ้ามีประสบการณ์และการฝึกฝีมือหัตถการมองเห็นปัญหาจากการสอนนักศึกษาแพทย์ที่ต้องใช้หุ่นจำลองระบบต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งสั่งนำเข้าในราคาแพง จึงคิดพัฒนาสิ่งที่จะมาตอบโจทย์โดยใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศ

“หุ่นจำลองเพื่อฝึกการทำหัตถการใส่ท่อในช่องเยื่อหุ้มปอดจากยางธรรมชาติ” จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้นิสิตแพทย์ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์การใส่ท่อในช่องปอดสามารถฝึกใช้งาน โดยตัวหุ่นจำลองทำมาจากยางพาราธรรมชาติ ที่ติดตั้งระบบการทำงานการไหลเวียนของเลือด พร้อมเซนเซอร์ที่ทำให้หุ่นมีระบบการทำงานเสมือนมนุษย์

นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบเตือนด้วยเซนเซอร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตือนผู้ทำหัตถการในกรณีที่ทำผิดตำแหน่ง พร้อมให้นิสิตแพทย์ แพทย์ฝึกหัด แพทย์ประจำบ้าน และอาจารย์แพทย์ทดสอบใช้งาน พบผลตอบรับอยู่ในระดับที่ดี จึงนำไปสู่ต้นแบบผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่พร้อมต่อยอดเชิงพาณิชย์

จากนั้นนักวิจัยเริ่มมองเห็นช่องทางในการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ที่จะมาเสริมทักษะและฝีมือให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากการผ่าตัด การดูแลแผลหลังผ่าตัด แผลอุบัติเหตุและอื่นๆ ต้องใช้ทักษะการทำหัตถการที่ผ่านการฝึกฝีมือในระหว่างการเรียน

“โดยทั่วไปอุปกรณ์ฝึกทำหัตถการจะใช้แผ่นยางซิลิโคนราคาแพง ทำให้บางครั้งต้องใช้งานร่วมกันหลายคน ต้องรอคิวฝึก หรือบางครั้งทำได้แค่ดูอาจารย์แพทย์ทำ หรือบางแห่งลดต้นทุนด้วยการใช้เนื้อหมู เนื้อไก่ ก็จะเกิดปัญหาเรื่องกลิ่นหรือการกำจัดขยะหลังใช้”

ผศ.พญ.จรินรัตน์ มีประสบการณ์ทำงานวิจัยเรื่องยางพารามากว่า 4 ปี มองว่า ยางพารานำมาใช้ทดแทนซิลิโคนได้ แต่ต้องวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้คุณลักษณะบางอย่างเพื่อให้นำไปใช้ฝึกสอนนิสิตแพทย์ได้เสมือนมนุษย์จริงๆ ทั้งนี้ ยางพารามีเนื้อยางที่เป็นฟองอากาศแข็ง ไม่ยืดหยุ่นเมื่อสัมผัส กรีดหรือเย็บ

โจทย์หลักการพัฒนาคือ ความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ไม่มีฟองอากาศ ทำให้เหมือนผิวมนุษย์ที่สุด นักวิจัยจึงพัฒนาสูตรน้ำยางพาราตั้งแต่ปี 2560 ล้มเหลวมาหลายครั้ง ยางพาราที่ได้อ่อนนุ่มแต่ทรุดตัว ในบางครั้งก็เสื่อมสลายเร็วเกินไป จนกระทั่งสามารถพัฒนาสูตรยางพาราพร้อมน้ำยาเคลือบด้วยเทคโนโลยีนาโนที่ทำให้แผ่นยางอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นเสมือนผิวมนุษย์

“เมื่อเทียบคุณภาพแผ่นยางพาราสำหรับฝึกหัตการที่เราพัฒนาขึ้นนั้น พบว่าทนทานกว่าซิลิโคนที่ขาดง่าย ใช้ยางพาราที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่สำคัญ ราคาถูกกว่าของนำเข้าถึง 10 เท่า เป็นโอกาสที่จะทำให้นิสิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนการสอนในราคาที่เอื้อมถึง”

ส่งต่อการยางฯผลิตขาย

นอกจากนี้ยังจับมือกับการยางแห่งประเทศไทยต่อยอดเป็นชุดอุปกรณ์ช่วยฝึกหัตถการและผ่าตัด (Suture Kit) ในลักษณะกระเป๋าขนาดเล็ก มีแผ่นยางพาราพร้อมอุปกรณ์ผ่าตัดและเย็บแผลให้นำไปใช้ฝึกได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่สำคัญ สิ่งประดิษฐ์นี้จะเติมเต็มช่องว่างในการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มีทักษะที่ดีและเพิ่มประสิทธิภาพการทำหัตถการ

“ต้นปี 2561 ได้ให้การยางฯ ผลิตและต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยสามารถขายได้มากกว่า 2 แสนชิ้นแล้ว นอกจากบุคลากรทางการแพทย์ยังสามารถใช้ในกลุ่มสัตวแพทย์ นักวิจัย ทันตแพทย์ พยาบาลหรือแม้กระทั่งทหาร หรือหน่วยซีลที่ต้องใช้ทักษะในการดูแลรักษาตัวเองเมื่อต้องออกปฏิบัติภารกิจอีกด้วย”

หุ่นจำลองและชุดอุปกรณ์ช่วยฝึกหัตการและผ่าตัดจากยางพารา พร้อมอวดโฉมในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 หรือ ไทยแลนด์ รีเสิร์ช เอกซ์โป 2018 ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 9-13 ส.ค.นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ