AU - ซื้อเมื่ออ่อนตัว

AU - ซื้อเมื่ออ่อนตัว

มีโอกาสเติบโตจากการขายแฟรนไชส์ และ Co-Branding

รายละเอียดธุรกิจ : ผู้ประกอบการร้านขนมหวาน ภายใต้เครื่องหมายการค้า อาฟเตอร์ ยู ปัจจุบัน มีจำนวน 30 สาขา (27 สาขาในกทม. และ 3 สาขาในต่างจังหวัด) และจนถึงสิ้นปี 61 มีแผนเปิดอีกราว 4-5 สาขา คือ สาขาเซ็นทรัลพระราม 2  สาขาภูเก็ต สาขาพัทยา และสาขาสุขุมวิท101 กลยุทธ์การเปิดสาขาหลังจากนี้ จะเน้นเปิดตามหัวเมืองในต่างจังหวัดเพื่อขยายฐานลูกค้า  รายได้ปัจจุบันกว่า 95% มาจากการขายขนมหวานหน้าร้าน และอีกประมาณ 5% จากงาน Catering นอกสถานที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ประเด็นสำคัญ :

  • ผู้บริหารยืนยันประเด็นห้ามใช้ไขมันทรานส์ ไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ หลังกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศห้ามขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เนื่องจากส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร AU เผยว่าผลิตภัณฑ์ขนมหวานของ AU เป็นขนมหวานแบบพรีเมี่ยม โดยวัตถุดิบส่วนใหญ่กว่า 90%ไม่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ แต่อาจมีบางรายการที่มีส่วนผสมของไขมันดังกล่าวซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ คือ Topping sauces บนขนมหวาน โดยบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบทดแทนได้แน่นอน และประเด็นดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน
  • คาดกำไรใน 2Q61 จะอยู่ที่ 36.19 ลบ. +5.5%QoQ +5%YoY ถึงแม้ว่าในไตรมาส 2 จะมีการปิดสาขาสนามบินดอนเมืองลง เพราะยอดขายสาขาดังกล่าวไม่เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นผลจากทำเลที่ตั้งไม่เหมาะสม อยู่ในตำแหน่งที่ลูกค้าซื้อสินค้าได้ไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม AU ได้เปิดสาขาเพิ่มอีก 2 สาขา คือ สาขาเชียงใหม่ และสาขาอุดรธานี ทั้งนี้สาขาเชียงใหม่ที่เพิ่งเปิดไป ได้กระแสตอบรับดีเกินคาด มีรายได้เทียบเท่ากับสาขาที่มียอดขายสูงสุด 5 ดับแรกในกทม. รวมทั้งการ Co-Branding กับ Starbuck มีการขายผลิตภัณฑ์ของ AU เพิ่มขึ้นเป็น 11 สาขา จากเดิม 2 สาขา ณ สิ้นปี 60 ดังนั้นเราคาดว่าไตรมาส 2 ผลประกอบการยังคงเติบโตได้ แม้มีผลกระทบจากการปิดสาขาสนามบินดอนเมืองลง ถึงแม้ธุรกิจขนมหวานมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (SSSG) อาจจะยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากภาพรวมการบริโภคภายในประเทศยังทรงตัว ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีนขาดความเชื่อมั่นจากเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต และอาจทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวในประเทศไทยน้อยลง (ลูกค้าต่างชาติคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของลูกค้าทั้งหมด และสัดส่วนลูกค้าจีนคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของลูกค้าต่างชาติ) อย่างไรก็ตาม จากการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลังอีกราว 4-5 สาขา จะช่วยให้รายได้ของ AU ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับประมาณการทั้งปี 61 เราคาดรายได้ราว 866 ลบ. เติบโต 19.6%YoY  กำไรสุทธิราว 153 ลบ.  เติบโต 13.8%YoY
  • แผนการเติบโตภายใต้การขายแฟรนไชส์ และ Co-Branding : เราค่อนข้างชื่นชอบการวางแผนกลยุทธ์ในการขยายสาขาของ AU โดยไม่จำกัดเพียงแค่ภายในประเทศไทยเท่านั้น เนื่องจากผู้บริหารเล็งเห็นถึงศักยภาพและกำลังซื้อของคนต่างประเทศ โดยสำรวจจากผู้บริโภคต่างชาติที่เข้ามาทานขนมหวานภายในร้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่าแบรนด์ขนมหวาน “อาฟเตอร์ ยู” ติดตลาดสำหรับคนต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งผู้บริหารมีแผน จะเริ่มขยายสาขาโดยการขายแฟรนไชส์ให้กับประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยก่อน และหลังจากนั้นจะเริ่มขยายไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งราวปลายไตรมาส 3 ปี 61 นี้ AU มีแผนเซ็นสัญญาขายแฟรนไชส์ให้บริษัท 1 แห่งของประเทศมาเลเซีย และจะเริ่มเปิดขายสินค้าหน้าร้านอย่างเป็นทางการประมาณกลางไตรมาส 1 ปี 62 โดยส่วนแบ่งรายได้สำหรับดีลนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ 1) Initial Fee (ราคาอยู่ในระหว่างการเจรจา) 2) Royalty Fee (ประมาณ 8% จากยอดขาย) และ 3) ค่าขายวัตถุดิบ ซึ่งทางผู้บริหารวางเป้าไว้ว่า ภายใน 5 ปีหลังเซ็นสัญญา จะมีสาขาอาฟเตอร์ ยู ในประเทศมาเลเซีย จำนวน 15 สาขา นอกจากการขายแฟรนไชส์แล้ว ภาพการเติบโตภายใต้การร่วมมือทางการค้า(Co-Branding) กับ ทาง Starbuck สายการบินแอร์เอเชีย และสายการบินไทยสมายล์ ยังมีทิศทางการเติบโตสำหรับช่องทางนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น Starbuck มีการซื้อสินค้าจาก AU มาขายหน้าร้านเพิ่มขึ้นเป็น 11 สาขา (จากเดิม 2 สาขา ณ สิ้นปี 60) ภาพการเติบโต เรามองว่า AU ยังสามารถเติบโตจากช่องทาง Co-Branding กับ Starbuck ได้อีกมาก ประเมินจากจำนวนสาขา Starbuck ที่มีเกือบ 300 สาขาในประเทศไทย แต่ AU เพิ่งจะมีการร่วมมือไปได้เพียงแค่ 11 สาขาเท่านั้น
  • เริ่มต้นด้วยคำแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” ราคาเหมาะสม 9.20 บาท เราประเมินมูลค่าเหมาะสม ด้วยวิธี DCF ภายใต้สมมติฐาน WACC = 77% และ Terminal Growth = 3% จากโครงสร้างเงินทุน รวมถึงศักยภาพการเติบโตของบริษัทหลังจาก 5 ปีนี้ ได้ราคาเหมาะสม 9.20 บาท ดังนั้นเราจึงแนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”

ความเสี่ยง

1.ธุรกิจมีการแข่งขันสูง

2.SSSG ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น

3.นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต