จ่อส่งงานธุรการ จัดซื้อให้เขตพื้นที่ทำแทนโรงเรียน หวังลดภาระงานครู

จ่อส่งงานธุรการ จัดซื้อให้เขตพื้นที่ทำแทนโรงเรียน  หวังลดภาระงานครู

รมว.ศึกษาธิการ จ่อส่งมอบงานธุรการจัดซื้อจัดจ้างให้เขตพื้นที่ดูแลแทนโรงเรียน หวังลดภาระงานครู

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ว่า ตนได้เน้นย้ำถึงการปฎิรูปการศึกษาที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยที่ผ่านมาการขับเคลื่อนในเรื่องนี้กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดีทั้งการดำเนินการคูปองพัฒนาครู การจัดทำประเมินคุณภาพสถานศึกษา แต่ก็ยังพบว่าในการปฎิรูปการศึกษายังไม่ดีเท่าที่ควรและบางครั้งเราตกเป็นจำเลยทางสังคม โดยเมื่อเร็วๆนี้คนได้เห็นคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่กันในโซเชียลที่ทำขึ้นระบุว่า การศึกษาไทยทำร้ายครูอย่างไร ซึ่งในคลิปมีครูแต่ละคนพูดถึงภาระงานธุรการที่มากเกินไปทำงานอกห้องเรียนมากกว่าจะคิดเรื่องงานสอน ดังนั้นประเด็นนี้ทำให้ตนฉุกคิดและอยากจะเปิดกว้างให้แก่ทุกคนได้เข้ามาช่วยกันปฎิรูปการศึกษา ซึ่งตนจะเชิญกลุ่มที่จัดทำคลิปดังกล่าวมาหารือร่วมกัน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ทั้งนี้ตนไม่อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตกเป็นจำเลยของสังคมจึงต้องการแก้ปัญหาการศึกษาเหล่านี้ให้ได้โดยเฉพาะการพัฒนาครู ซึ่งตนเห็นด้วยที่ครูจะต้องมีบทบาทของการสอนอย่างเต็มที่ซึ่งเป็นงานหลักของครู ส่วนหน้าที่อื่นๆ เช่น งานธุรการ งานจัดซื้อจัดจ้าง ควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการดูแล ดังนั้นเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องไปดูว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง แต่เท่าที่ทราบเบื้องต้นเลขาธิการ กพฐ.ได้รายงานว่ามีการกระจายอำนาจไปให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการแล้ว ทั้งนี้หากการมอบหมายภาระงานด้วยการกระจายอำนาจงานธุรการและงานจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนไปที่เขตพื้นที่การศึกษาได้ก็จะทำให้ครูอยู่ในห้องเรียนทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่

"สำหรับการติดตามนโยบายการศึกษาพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้ช่วยติดตามโครงการอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนด้วย ซึ่งจากที่ผมได้เยี่ยมโรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ รวมถึงได้มีโอกาสไปโรงเรียนอื่นๆในหลายพื้นที่เพื่อดูการบริหารโครงการอาหารกลางวันพบว่า โรงเรียนแห่งนี้สามารถจัดอาหารกลางวันได้ดีตามนโยบายที่ สพฐ.กำหนด ทั้งนี้เชื่อว่าโรงเรียนส่วนใหญ่สามารถจัดโครงการอาหารกลางวันได้ดีมีเพียงแค่ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นปลาเน่าหรือหากจะคิดเป็นตัวเลขที่ทำให้โครงการเสียชื่อเสียงแค่ 0.01 % " รมว.ศธ.กล่าว 

ด้าน นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า เรื่องนี้ สพฐ.เคยทำหนังสือไปยังเขตพื้นที่การศึกษาในเรื่องการกระจายอำนาจแล้วว่าหากโรงเรียนใดได้รับงบประมาณไปแล้วแต่ไม่มีความพร้อมในการบริหารจัดการในการจัดซื้อจัดจ้างให้โรงเรียนทำหนังสือเพื่อขอให้เขตพื้นที่การศึกษามาช่วยดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแทนได้ แต่เมื่อ รมว.ศธ.ได้มอบนโยบายชัดเจนต้องการกระจายอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างจากโรงเรียนให้เขตพื้นที่อย่างชัดเจนตนจะเชิญโรงเรียนทุกกลุ่ม ได้แก่ โรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และขยายโอกาส มาหารือว่าแต่กลุ่มโรงเรียนต้องการจะให้เขตพื้นที่การศึกษาช่วยเหลืองานธุรการและงานจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องใดบ้าง เพราะโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่อาจทีความพร้อมที่ไม่ต้องมอบหมายงานเหล่านี้ให้เขตพื้นที่การศึกษา