แจงปลูกพืชระบบไฮโดรโปรกนิกส์ มีคำแนะนำใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง-ปลอดภัย

แจงปลูกพืชระบบไฮโดรโปรกนิกส์ มีคำแนะนำใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง-ปลอดภัย

กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ 3 หน่วยงาน เปิดแผนโครงการวิจัยเร่งด่วนสุ่มตรวจและเก็บตัวอย่างพืช ดิน น้ำ ในพื้นที่มีปัญหาตั้งเป้า 800 ตัวอย่าง

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรณีเพจ MOREMOVE นำเสนอข้อมูลจากมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ระบุว่า พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในผักไฮโดรโปนิกส์มากกว่าผักปลูกโดยใช้ดิน นั้น กรมวิชาการเกษตรมีภารกิจในการกำกับดูแลและให้การรับรองแหล่งผลิตพืชในระบบ GAP และเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ด้วย ซึ่งเป็นการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน อาศัยการให้ธาตุอาหารในรูปแบบสารละลาย แต่การปลูกบางพื้นที่ยังใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ รวมทั้งการปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ไม่ใช่การทำเกษตรอินทรีย์เกษตรกรจึงสามารถใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามคำแนะนำบนฉลากวัตถุอันตรายได้ และเว้นระยะการใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกับการปลูกพืชในระบบ GAP หรือการปลูกพืชในระบบอื่น ซึ่งหากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวจะไม่มีสารตกค้างในผลผลิตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชในดินโดยปกติสารเคมีจะมีการสลายตัวได้เร็วเนื่องจากปัจจัยของอุณหภูมิ และแสงแดดรวมทั้งมีจุลินทรีย์ที่ช่วยสลายสารเคมีลงไปในดิน แต่การปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินหรือในโรงเรือนจะไม่มีจุลินทรีย์เป็นตัวช่วยจึงสลายตัวได้ช้า อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตรมีคำแนะนำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชในโรงเรือนใช้ชีวภัณฑ์ เช่น ไตรโครเดอร์มา และไส้เดือนฝอยทดแทนการใช้สารเคมี หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้ให้ใช้ตามคำแนะนำในฉลากและเว้นระยะการใช้ก่อนการเก็บเกี่ยวให้ถูกต้อง

นอกจากการให้การรับรองแหล่งผลิตแล้วกรมวิชาการเกษตรยังมีมาตรการในการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผลผลิตโดยติดตามสุ่มเก็บตัวอย่างผลผลิตแล้วนำมาตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในห้องปฏิบัติการ โดยสุ่มเก็บทั้งในแปลงซึ่งเป็นแหล่งผลิต จุดรวบรวมผลผลิตในและโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นแผนงานประจำทุกปี และเพิ่มแผนการสุ่มตรวจในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษจีน และปีใหม่ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยในปี 2561 นี้ได้มีแผนการสุ่มเก็บตัวอย่างทั่วประเทศรวมจำนวน 9,000 – 10,000 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้จัดทำโครงการวิจัยแร่งด่วน โดยทำการสำรวจสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย และวิจัยสารพิษตกค้างในพืชผัก ผลไม้ที่มีความเสี่ยงจากสารเคมีทางการเกษตร ด้วย โดยสำรวจและติดตามผลกระทบในน้ำและดินมีเป้าหมายในการเก็บชนิด และจำนวนตัวอย่าง 800 ตัวอย่างเพื่อนำมาตรวววิเคราะห์สารตกค้าง

“การสุ่มตัวอย่างพืชผักที่จำหน่ายในประเทศเป็นการกำกับดูแล ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)กรมวิชาการเกษตรสุ่มตรวจสารตกค้างในพืชที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP หากพบเกินค่ามาตรฐานจะดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรให้ปรับปรุงแก้ไข หากไม่แก้ไขจะมีการพักใช้หรือเพิกถอนการรับรองต่อไป อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค โดยดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว