CPF - ซื้อ

CPF - ซื้อ

ประมาณการกำไรไตรมาส 2/61 สูงกว่าที่เคยคาดก่อนหน้า

เราปรับประมาณการกำไรไตรมาส 2/61 เพิ่มขึ้นจากเดิมเนื่องจากธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามที่พลิกกลับมาเป็นกำไรแข็งแกร่งกว่าที่เราคาดก่อนหน้า และถ้ามองไปข้างหน้า ราคาหมูในประเทศเวียดนามที่ยังคงยืนได้ในระดับสูง ธุรกิจกุ้งในประเทศไทยที่มีแนวโน้มกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และผลการดำเนินงานของธุรกิจกุ้งในต่างประเทศ (ซึ่งไม่รวมประเทศไทย) ที่ยังคงเติบโตแข็งแกร่ง ซึ่งมีแนวโน้มกลบผลกระทบของราคาเนื้อสัตว์บกในประเทศไทยที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามปัจจัยด้านฤดูกาลในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” หนุนโดยกำไรหลักซึ่งคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และมูลค่าหุ้นที่ยังคงถูก โดยมีอัตราส่วน PER ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเพียง 12.9 เท่าเทียบกับระยะยาวซึ่งอยู่ที่ 13.3 เท่า

ส่องกล้องไตรมาส 2/61—กำไรก้าวกระโดดจากธุรกิจหมูในเวียดนามพลิกเป็นกำไร

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/61 ที่ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% YoY และ 54% QoQ หากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน กำไรหลังหักภาษีจากการแปลงสภาพหุ้นกู้อนุพันธ์จากการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้เป็นหุ้น CPALL และกำไรหลังหักภาษีจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL เราประเมินกำไรหลักในไตรมาสนี้ที่ 1.99 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% YoY และ 721% QoQ ทั้งนี้ผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ได้ทำการแปลงสภาพจำนวน 40% ของจำนวนหุ้น CPALL ที่สำรองไว้สำหรับการแปลงสภาพ (หรือคิดเป็นหุ้น CPALL ที่แปลงสภาพจำนวน 52 ล้านหุ้น) ในไตรมาส 2/61 ซึ่งเราคำนวณกำไรจากการแปลงสภาพหลังหักภาษีได้เท่ากับ 2.29 พันล้านบาท ตัวเลขประมาณการใหม่ในครั้งนี้ถือว่าสูงกว่าประมาณการครั้งก่อนหน้าซึ่งเราคาดกำ ไรสุทธิและกำ ไรหลักที่ 2.5 พันล้านบาทและ 1 พันล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าคาดจากธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามที่พลิกกลับมาเป็นกำไรที่มากกว่าคาด

กำไรหลักที่เพิ่มขึ้น YoY เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้น (ธุรกิจหมูในเวียดนามที่พลิกกลับมามีกำไร และกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพทั้งในประเทศไทยและเวียดนามซึ่งอิงกับราคาหมูของทั้งสองประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น) และส่วนแบ่งกำไรจาก CPALL ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มกลบผลกระทบของกำไรธุรกิจหมูและไก่ในประเทศไทยที่ลดลง รวมถึงธุรกิจกุ้งในประเทศไทยที่อ่อนตัวลง ในขณะที่กำไรหลักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด QoQ ได้รับปัจจัยหนุนจากช่วงไฮซีซั่นและธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามและไทยที่พลิกกลับมาเป็นกำไร เราคาดยอดขายไตรมาส 2/61 เพิ่มขึ้น 1.2% YoY และ 5.8% QoQ และคาดอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้ที่ 11.7% เพิ่มขึ้นจาก 11.2% ในไตรมาส 2/60 และ 9.7% ในไตรมาส
1/61 (สมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นของเราได้คำนวณรวมกำไร/ขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพเข้าไปด้วย) เนื่องจากราคาหมูในประเทศเวียดนามที่ฟื้นตัวกลับมาแรงในไตรมาส 2/61 เราคาดกำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพจำนวน 1.2 พันล้านบาทในไตรมาสนี้

ราคาหมูในประเทศเวียดนามยังคงยืนในระดับที่แข็งแกร่ง

ภายใต้สมมติฐานราคาหมูในประเทศเวียดนามที่ 47,000 ดอง/กก. ในเดือนมิ.ย. 2561 (ตัวเลขเดือนมิ.ย.ยังไม่ประกาศออกมา) เราคาดว่าราคาหมูในเวียดนามเฉลี่ยในไตรมาส 2/61 มีแนวโน้มอยู่ที่ 42,196 ดอง/กก. เพิ่มขึ้นแรง 84% YoY และ 37% QoQ จุดคุ้มทุนสำหรับธุรกิจหมูในเวียดนามอยู่ที่ 34,000 ดอง/กก. ดังนั้นไตรมาส 2/61 จึงน่าจะเป็นไตรมาสแรกที่ธุรกิจหมูในประเทศเวียดนามพลิกกลับมาเป็นกำไรนับตั้งแต่ไตรมาส 4/59 เป็นต้นมา ถ้าอ้างอิงจากราคารายเดือน ราคาหมูในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 35,542 ดอง/กก. ในเดือนเม.ย. 2561 เป็น 44,045 ดอง/กก. ในเดือนพ.ค. (เพิ่มขึ้น 24% MoM) และเราคาดว่าราคาเฉลี่ยในเดือนมิ.ย. มีแนวโน้มอยู่ที่ 47,000 ดอง/กก. (เพิ่มขึ้น 7% MoM) เรามองว่าราคาหมูที่ปรับตัวขึ้นแรงเนื่องมาจากอุปทานหมูในเวียดนามที่ลดลงอย่างมาก การลดลงของยอดขายอาหารสัตว์บกในประเทศเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ได้บ่งชี้ว่าผู้เลี้ยงหมูรายเล็กในประเทศเวียดนามได้ทยอยออกจากอุตสาหกรรมหมูไปแล้ว

ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำเข้าหมูมีชีวิตจากประเทศจีนเข้ามายังประเทศเวียดนามมากขึ้น เนื่องจากราคาหมูในประเทศจีนถูกกว่าในประเทศเวียดนาม 10 บาท/กก. (66 บาท/กก. เทียบกับ 55 บาท/กก.) แต่จนถึง ณ ปัจจุบันเราก็ยังคงไม่เห็นว่าจะมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแต่อย่างใด โดยภาพรวมเราไม่คาดว่าราคาหมูในประเทศเวียดนามจะปรับตัวสูงขึ้นไปอีกมากจากระดับ ณ ปัจจุบัน (หรือเพิ่มขึ้นเกิน 50,000 ดอง/กก.) เนื่องจากอุปทานหมูในประเทศจีนยังคงอยู่ในภาวะล้นตลาดอยู่ ณ ปัจจุบัน

ราคาเนื้อสัตว์บกในประเทศไทยมีแนวโน้มอ่อนตัวตามฤดูกาลในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค.

ราคาหมูในประเทศเฉลี่ยสำหรับ 4 ตลาดได้แก่ ราชบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา ปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจาก 58.4 บาท/กก. ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. มาอยู่ที่ 60.4 บาท/กก. ในช่วงต้นเดือนก.ค.หรือเพิ่มขึ้น 3% MoM ราคาหมูในประเทศไทยเฉลี่ยในไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 60 บาท/กก. ลดลง 7%YoY แต่เพิ่มขึ้น 29% QoQ ในขณะที่ราคาไก่ในประเทศไทยเฉลี่ยในไตรมาส 2/61 อยู่ที่ 32 บาท/กก. ลดลง 19% YoY แต่ทรงตัว QoQ ธุรกิจหมูในประเทศไทยของ CPF มีแนวโน้มรายงานกำไรในไตรมาส 2/61 (เทียบกับจุดคุ้มทุนซึ่งอยู่ที่ 55 บาท/กก.) ในขณะที่ธุรกิจไก่ในประเทศของบริษัทมีแนวโน้มน่าจะเท่าทุนหรือขาดทุนเล็กน้อย (เทียบกับจุดคุ้มทุนอยู่ที่ 32-33 บาท/กก.) และเนื่องจากการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงตามฤดูกาลในช่วงฤดูฝนและช่วงเทศกาลกินเจในเดือนต.ค. เราจึงคาดว่าราคาเนื้อสัตว์บกมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในไตรมาส 3/61 จนถึงเดือนต.ค. จากนั้นราคาเนื้อสัตว์บกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย.เป็นต้นไป

ราคากุ้งที่ฟื้นตัวแรงส่งผลบวกต่อธุรกิจกุ้งไทยของ CPF ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561

ราคากุ้งในประเทศที่ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดเร็วๆ นี้ที่ 190 บาท/กก. ในเดือนมี.ค. เหลือ 115 บาท/กก. ในเดือนพ.ค. 2561 (หรือลดลง 39% ภายในเวลา 2 เดือน) น่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายอาหารกุ้งและยอดขายลูกกุ้งของ CPF ในไตรมาส 2/61 แต่เรามองว่าเป็นเพียงแค่ปัจจัยลบระยะสั้น เนื่องจากราคากุ้งกลับมาฟื้นตัวแรงอีกครั้งโดยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 150 บาท/กก.ในปลายช่วงเดือนมิ.ย. และ 170 บาท/กก. อีกครั้งในช่วงต้นเดือนก.ค. เนื่องจากอุปสงค์กุ้งที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านฤดูกาล แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจกุ้งประเทศไทยของ CPF ในไตรมาส 2/61 น่าจะมีไม่มากนักเนื่องจากได้รับการชดเชยจากการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ราคากุ้งในประเทศที่เด้งกลับขึ้นมาในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นให้ผู้ทำฟาร์มกุ้งกลับมาเตรียมบ่อสำหรับการเลี้ยงกุ้งอีกครั้ง (ถ้าเทียบกับต้นทุนเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรซึ่งอยู่ที่ 120 บาท/กก.) ดังนั้นธุรกิจการขายอาหารกุ้งและลูกกุ้งของ CPF น่าจะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้เราคาดธุรกิจกุ้งในประเทศเวียดนามและประเทศอินเดียของ CPF มีแนวโน้มรายงานผลการดำเนินงานที่ยังคงแข็งแกร่งในไตรมาส 2/61