ค้นพบ!ไหมลูกผสมพันธุ์ใหม่ 'เหลือง มมส' แข็งแรง เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตสูง

ค้นพบ!ไหมลูกผสมพันธุ์ใหม่ 'เหลือง มมส' แข็งแรง เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตสูง

อาจารย์นักวิจัย มหา'ลัยมหาสารคาม ค้นพบไหมพันธุ์ไทยลูกผสมพันธุ์ใหม่ "เหลือง มมส" เผยแข็งแรง เลี้ยงง่าย และให้ผลผลิตสูง

งานวิจัย "การปรับปรุงพันธุ์ไหมพันธุ์ไทยลูกผสมรังสีเหลืองพันธุ์ใหม่" นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาน วิไล อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) และผู้ร่วมวิจัยอีก 4 คน ได้แก่ ผศ.ดร.จุฑาพร แสงประจักษ์ นางสาวจุฑารัตน์ จามกระโทก นายวรพจน์ รักสังข์ และนายสุวัฒน์ พรมมา ได้รับทุนสนับสนุนโครงการวิจัยการเกษตรเชิงพาณิชย์ จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. และศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมไหม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

2_69

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาน วิไล เปิดเผยว่า ตนและคณะ ดำเนินการวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ไหมพันธุ์ไทยลูกผสมรังสีเหลืองพันธุ์ใหม่ โดยการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่างไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน กับไหมพันธุ์ต่างประเทศ ได้แก่ พันธุ์หัวฝาย (H) และพันธุ์โชวะ (E) ปรับปรุง โดยได้ทำการเลี้ยงทดสอบและผลิตไข่ไหมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นการทดสอบ ในพื้นที่อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งผลการทดสอบเลี้ยงไหมกับกลุ่มเกษตรกรพบว่า ได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจ เกษตรกรที่ทดสอบเลี้ยงพึงพอใจมากต่อการเลี้ยงไหม เพราะมีจุดเด่นที่แตกต่างกว่าพันธุ์ที่เคยเลี้ยง คือ ปริมาณเส้นไหมที่ได้รับให้ผลผลิตสูง แข็งแรง เลี้ยงง่าย จึงเป็นพันธุ์ไหมที่มีความเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงต่อไป

7_9

สำหรับการปรับปรุงพันธุ์ไหมพันธุ์ไทยลูกผสมรังสีเหลืองพันธุ์ใหม่ โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน 2 สายพันธุ์ได้แก่ พันธุ์หัวฝาย (H) และพันธุ์คอตั้ง (K) กับไหมสายพันธุ์ต่างประเทศ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ KS1 , KS3 ,KS5 และพันธุ์โชวะปรับปรุง (E หรือ S) การศึกษาประกอบด้วย

1) ทดสอบประสิทธิภาพของการให้ลูกผสม จำนวน 6 คู่ผสม (H x E, E x H , KS3 x H, KS3 x K, KS1 x H, KS1 x K และ KS5 x H)

2) เปรียบเทียบพันธุ์ไหม 4 คู่ผสมในท้องถิ่นต่างๆ (E x H , KS3 x H , KS1 x H และ H X E) โดยมีพันธุ์ดอกบัว (UB1 x นางน้อย) เป็นพันธุ์มาตรฐานเปรียบเทียบ

8_8

3) ทดสอบไหมพันธุ์ไทยลูกผสมพันธุ์ใหม่ (H x E) ในภาคเกษตรกร จากการศึกษาทำให้ได้ไหมพันธุ์ไทยลูกผสมรังสีเหลืองพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างใช้ไหมพันธุ์หัวฝายเป็นแม่ ซึ่งหนอนไหมมีลักษณะแต้มลายบนลำตัว เป็นแบบปกติ รังไหมมีลักษณะหัวป้านท้ายแหลม รังสีเหลือง ผสมพันธุ์กับพันธุ์โชวะปรับปรุงเพศผู้ หนอนไหมมีลักษณะขาวปลอดและเลี้ยงง่าย รังไหมกลมรีสีขาว ผลปรากฏได้หนอนไหมลูกผสมพันธุ์ H x E ลำตัวมีลักษณะแต้มลายเป็นแบบปกติ รังไหมมีลักษณะกลมรีสีเหลือง และมีขนาดของรังสม่ำเสมอ ให้ชื่อไหมพันธุ์ใหม่ว่า "เหลือง มมส"

13

ดังนั้น ไหมพันธุ์ไทยลูกผสมรังสีเหลืองพันธุ์ใหม่ มีความเหมาะสมที่จะนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง เนื่องจาก แข็งแรง เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตสูง และรังมีคุณภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับไหมพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมเลี้ยง ทั่วไปแล้ว รังไหม 1 รัง ได้เส้นไหมยาวประมาณ 700 - 800 เมตร จึงเป็นพันธุ์ไหมที่เหมาะส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงไหมเชิงอุตสาหกรรมได้โดยเฉพาะในเขตจังหวัดมหาสารคาม

3_46

จากความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ไหมจนทำให้ได้ไหมพันธุ์ไทยลูกผสมรังสีเหลืองพันธุ์ใหม่ ตนเองในฐานะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เชื่อว่า อุตสาหกรรมไทย น่าจะหันมาพัฒนาสายพันธุ์และส่งเสริมการใช้เส้นไหมที่เป็นทั้งพันธุ์ไทยพื้นเมือง ที่มีเอกลักษณ์ดั้งเดิมของไหมไทย และการส่งเสริมการใช้เส้นไหมที่มีการพัฒนาจากพันธุ์ไทยที่เป็นลูกผสม ที่จะสามารถให้อุตสาหกรรมไหมไทยมีความเจริญรุดหน้า ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ในอนาคต