ถึงยุคปั้นคนเก่งด้วยคอร์สออนไลน์ ดันองค์กร ‘โกดิจิทัล’

ถึงยุคปั้นคนเก่งด้วยคอร์สออนไลน์ ดันองค์กร ‘โกดิจิทัล’

ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา SkillLane (สกิลเลน) ประกาศขยายตลาดจาก “บีทูซี” สู่ “บีทูบี” และล่าสุดได้จับมือกับ “ธนาคารกสิกรไทย”

นอกจากนี้ก็กำลังจะเซ็นต์สัญญากับบิ๊กคัมปะนีเพิ่มอีกราวสิบราย ซึ่งอยู่ในธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ เทเลคอม พลังงาน ค้าปลีก สถาบันการศึกษาและเทคโนโลยี


"จากประสบการณ์ 2 -3 ปีที่ได้ก่อตั้งสกิลเลน เราได้พบว่าลูกค้าในตลาดบีทูซีส่วนใหญ่เป็นพนักงานทำงานในบริษัทต่าง ๆ เมื่อได้สำรวจคนกลุ่มนี้ก็พบว่ามีมากถึง 94% ที่คิดว่ามีทักษะใหม่ ๆที่พวกเขาต้องการเรียนเพิ่มเติม และมีอยู่ถึง 97% ของคนกลุ่มนี้เลยทีเดียวที่ไม่ได้เรียนรู้เนื่องจากยังมีเวลาไม่มากพอ เพราะวัน ๆต้องรับผิดชอบเรื่องงาน หรือถ้าจะลงเรียนเป็นเรื่องเป็นราวก็รู้สึกเหนื่อยเกินไป จึงอยากเรียนรู้ได้ง่ายๆ เป็นชิ้นเล็ก ๆวันละ15 นาทีก็พอ และเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา"


ในมุมมองของ “ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง แพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ สกิลเลน ก็คือ ตลาดคอปอเรทหรือบีทูบี มีดีมานด์ที่ค่อนข้างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ เนื่องจาก โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนย่อมทำให้องค์ความรู้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าองค์กรหรือคนทำงานต้องปรับตัว ต้องเรียนรู้ ต้องอัพเดทความรู้อยู่ตลอดเวลา


เขาบอกว่า ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกคนได้เห็นกระแสของสตาร์ทอัพ แนวคิด Agile การทำโปรโตไทป์ ฯลฯ แต่ในปีนี้กลับเป็นเรื่องของ Cryptocurrency หรือเงินดิจิทัลและเทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น


“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล ได้ทำให้วิธีคิดของการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรบุคคลจำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วย ความท้าทายขององค์กรในวันนี้ คือการสร้างองค์ความรู้ที่พนักงานเข้าถึงได้ง่าย ตรงกับพฤติกรรม ความต้องการ สภาพแวดล้อมการทำงานและมีความหลากหลาย ซึ่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะในแบบเดิม ๆอาจไม่เพียงพออีกต่อไป


"เราอยากตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรให้ครบ 360 องศา ให้มีความรู้ในทุก ๆด้าน อยากให้เขาพัฒนาตนเองได้ครบ ได้เรียนการดูเพชร ทำอาหาร ทำขนม สอนการแต่งหน้า เพราะเวลาไปเจอลูกค้า เราคงไม่ได้คุยแค่เรื่องงาน แต่มันต้องชิทแชท คุยทุกเรื่องได้ทั้งหมดเลย เรื่องกอล์ฟก็ต้องคุยได้ คุยเรื่องขำๆ เรื่องข่าวเหตุบ้านการเมืองก็ต้องได้ทั้งหมด จะทำให้เราสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง และก็ทำให้พนักงานของเราได้ทั้งมุมของการพัฒนาตัวเอง ทั้งยังทำให้การทำงานของเขาทำได้ง่ายขึ้นด้วย"


จากความร่วมมือครั้งนี้ ธนาคาร ฯมุ่งหวังจะเสริมศักยภาพการทำงานให้บุคลากรกว่า 21,000 คน ก้าวสู่วัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเอง Self-Directed Learning อย่างเต็มรูปแบบ พนักงานจะได้เรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด เรียนได้สะดวกทุกเวลากับเนื้อหาที่ถูกใจ จากคอร์สออนไลน์ที่มีให้เรียนกว่า 400 คอร์ส


ทั้งนี้เป้าหมายในปี 2561 ที่ธนาคารฯ ต้องการก้าวเป็น “Data-Driven Bank” หมายถึง การทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยทักษะความสามารถที่ต้องการให้พนักงานมีมากที่สุดก็คือ ทักษะการวิเคราะห์, การหาความต้องการเชิงลึก, ทักษะในการทดลองและขยายผล และทักษะเกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลง(Change Management Skills) อาทิ การเป็นผู้นำ (Lead Change), การสื่อสาร (Communication) หรือ People Management Skills


ฐิติพงศ์ อธิบายว่า ปัจจุบันสกิลเลนมีหลักสูตรการเรียนการสอนอยู่ 3 หมวดหลัก ๆ ให้สามารถเลือกเรียน ได้แก่ หนึ่ง Soft Skill การพัฒนาตัวเองด้านการสื่อสาร การบริหารเวลา การบริหารทีมงาน ฯลฯ สอง Hard Skill ทักษะที่ใช้ในการทำงาน อาทิ ภาษาอังกฤษ การบริหารการตลาด การเงิน กราฟฟิกดีไซน์ เป็นต้น สาม Leisure Skill เช่น สอนการทำขนมเค้ก การเล่นดนตรี กีฬา หรือการดูเพชร เพื่อตอบโจทย์บุคลากรที่ทำงานบริการต้องไปดูแลลูกค้า ซึ่งถ้ามีความรู้รอบด้านก็จะสามารถเข้าใจลูกค้ามากขึ้นสามารถดูแลลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น


และในทุก ๆเดือน สกิลเลนมีคอร์สใหม่ๆเพิ่มเติมเข้าไปในแต่ละหลักสูตร รวมถึงจะมีการอัพเดท ตัวอย่างเช่น ไมโครซอฟท์ เอ็กเซล ที่หากมีการเปลี่ยนฟีเจอร์หรือเวอร์ชั่นใหม่ ทางสกิลเลนก็ทำวิดีโอการสอนขึ้นใหม่เพื่อให้สอดรับและทันต่อการพัฒนาที่เกิดขึ้น


เขามองว่า การเรียนออนไลน์ดีกว่าออฟไลน์ตรงที่ หนึ่ง ตรงที่สามารถส่งต่อความรู้ได้ทันที องค์กรสามารถอัพเดทองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลาเพิ่มเข้าไปในแพลตฟอร์ม สอง ดิจิทัลเทรนนิ่ง ทำให้ต้นทุนต่อความรู้สำหรับพนักงานน้อยลง การเรียนแบบคลาสรูมเขาเรียนได้น้อยคอร์ส แต่การเรียนออนไลน์ถ้าขยันเขาจะเรียนกี่คอร์สก็ได้ และ สาม เขายังสามารถกลับมาทบทวนความรู้ได้ตลอดเวลา ตอนเรียนอาจเข้าใจแต่นาน ๆก็อาจลืมไปก็กลับมาดูและทบทวนได้


"เดิมทีการพัฒนาศักยภาพพนักงานขององค์กรต่าง ๆจัดในรูปแบบของคลาสรูม และมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้อง ทั้งสถานที่และเวลา แต่ละปีก็จัดขึ้นได้ไม่กี่รอบ ก็อาจเป็นการเสียโอกาสสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานโดยที่เขายังไม่มีความพร้อม ยังไม่มีทักษะในการทำงาน แต่เขาสามารถมาเรียนผ่านระบบของเราที่ใช้งานง่าย ปลอดภัย เพียงสามขั้นตอน คือคลิกเข้าสู่ระบบ เลือกหลักสูตรที่สนใจ และลงทะเบียนเรียน เขาก็ได้เรียนหลักสูตรที่มีคุณภาพจากอาจารย์และองค์กรชั้นนำ"


ประการสำคัญ เอชอาร์ขององค์กรจะสามารถติดตามผล และประเมินผลการเรียนรู้ของพนักงานทุกคนโดยง่ายผ่านระบบออนไลน์ได้ทั้งหมด
ซึ่ง เอ็มดี ธนาคารกสิกรไทย เองก็ยืนยันว่า คอร์สเรียนออนไลน์ของสกิลเลน ที่โดดเด่นตรงที่มีคอนเทนท์ที่ดี มีผู้สอนที่เชี่ยวชาญ ก็ช่วยลดต้นทุนได้มากถึงสิบเท่าเลยทีเดียว ซึ่งในแต่ละปีธนาคารฯ มีงบประมาณสำหรับการเทรนนิ่งพนักงานประมาณ 400-500 ล้านบาท (ไม่รวมสกิลเลน)


"ทุกวันนี้ ธนาคารเราเองก็ยังมีอีเลิร์นนิ่ง มีการเปิดสอนคลาสรูมเทรนนิ่ง มีวิธีการสื่อสารผ่านกสิกรทีวีอยู่ แต่ก็ยังไม่พอต่อการเรียนรู้และความเร็วในการทำธุรกิจ จึงต้องเอาของสกิลเลนเข้ามาผนวกซึ่งเขามีคอร์สจำนวนมาก ให้พนักงานเข้าไปเรียนในเวลาไหนก็ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้องค์กรก็จะได้เห็นว่าพนักงานสนใจเข้าไปเรียนอะไร ทำให้เข้าใจพนักงานมากขึ้น ที่ผ่านมาองค์กรอาจทำเอนเกทเมนท์เซอร์เวย์ปีละครั้ง กว่าจะประมวลผลได้ว่าพนักงานเอนเกทหรือเปล่าก็ช้า แต่ครั้งนี้เราได้เห็นข้อมูลของพนักงานได้ทันที เชื่อว่าองค์กรเราจะดูแลพนักงานได้ดีขึ้นด้วย"


ด้าน ฐิติพงศ์ ยอมรับว่า บีทูบี ถือเป็นตลาดใหม่จึงมีความท้าทายสำหรับสกิลเลน แม้จะมั่นใจว่ามีจุดเริ่มต้นที่ดี มีครบถ้วนคือ มีคอนเทนท์ดี ผู้สอนดี มีแพลตฟอร์มที่ดี แต่จำเป็นต้องพัฒนา ต้องทำความเข้าใจและตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรได้มากยิ่งขึ้นในปีนี้จึงมุ่งขับเคลื่อนตลาดนี้อย่างเต็มที่


สกิลเลนก่อตั้งเมื่อกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดย “ฐิติพงศ์” และ “เอกฉัตร อัศวรุจิกุล” ทั้งสองเป็นลูกศิษย์ Kellogg School of Management สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้ให้บริการกับผู้เรียนแล้วประมาณ 2 แสนคน และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก 500 Startups, CyberAgent Ventures, คุณปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้ก่อตั้ง Stock2morrow, คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย, และบริษัทอักษรเจริญทัศน์