ภารกิจแมชชิ่ง ‘Doctor A-Z’ ถูกโรค ถูกหมอ ถูกโรงพยาบาล

ภารกิจแมชชิ่ง ‘Doctor A-Z’ ถูกโรค ถูกหมอ ถูกโรงพยาบาล

ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่เพียงแค่เที่ยวชมธรรมชาติ วัฒนธรรม หรือ วิถีชีวิตเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ตัวเลขของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยนั้นมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 20 ต่อปีเลยทีเดียว

และรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 5 ของโลกที่มีสถานพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI (Joint Commission International) มากที่สุด บุคลากรทางการแพทย์ของไทยก็มีความสามารถ ทั้งค่ารักษาพยาบาลในไทยก็ยังถูกกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ราว 2 และ 3 เท่า ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ

แต่ในความเป็นจริง มีโจทย์ใหญ่อยู่ 3 ข้อที่อาจกล่าวได้ว่าคนไข้ทั่วโลกต่างอยากได้รับการตอบสนอง ได้แก่ 1.เวลาในการรักษาที่คนไข้สะดวก 2.ราคาที่สามารถจ่ายได้ และ3.ได้ผลลัพท์ที่ต้องการ

ทว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคนไข้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารับรักษาในไทยก็ยังคงมีปัญหาและข้อจำกัดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการรอคอยที่ยาวนาน การเข้าถึงการรักษาที่ยาก ผลรักษาที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ  จึงเป็นที่มาของธุรกิจสตาร์ทอัพเฮลธ์เทคที่ชื่อ “ Doctor A-Z” (ด็อกเตอร์ เอทูแซด) แพลตฟอร์มที่จะช่วยแมชชิ่งแนะนำคนไข้ได้พบกับหมอที่เก่งที่สุดในโรคนั้นๆ ได้ราคาค่ารักษาที่ดีทีสุด ได้รักษาภายในสถานพยาบาลที่มีคุณภาพได้รับการรับรองจาก JCI

“พันเอกนายแพทย์ อนุชา พาน้อย” ซีอีโอ และ “กรรณิการ์ จำปาพันธ์” ซีโอโอ ของด็อกเตอร์ เอทูแซด ซึ่งทำงานอยู่ในแวดวงการแพทย์มาเป็นสิบปี มองว่าระบบของการบริการรักษาพยาบาลแบบเดิม ๆไม่สามารถตอบโจทย์สำคัญของคนไข้ 

"โดยทั่วไปคนไข้จากต่างประเทศกว่าจะได้รับการรักษา เขาต้องเสียเวลาไปกับขั้นตอนมากมายไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อมูลถึงอาการป่วยไปมาให้กับโรงพยาบาลของไทย แพ็คเก็จในการรักษา การคอนเฟิร์มวันเวลาว่าจะได้เมื่อไหร่ ทุกอย่างล่าช้า แต่ถ้าเขาคอนเน็คผ่านมาทางเรา ๆจะช่วยแมชชิ่งให้เขาทั้งหมด ทั้งหมอ โรงพยาบาล แพ็คเก็จราคา เราช่วยชอทคัทขั้นตอนต่างๆ เพื่อที่เขามาถึงแล้วก็สามารถเดินเข้าไปรับการรักษาได้เลย"

ที่ผ่านมาคนไข้ทุก ๆเคสของ ด็อกเตอร์ เอทูแซด จะได้รับการรักษาอย่างถูกโรค ถูกหมอ ถูกโรงพยาบาล โดยปริยายทำให้ต้นทุนราคาที่ต้องจ่ายนั้นถูกลง และถือเป็นการ “Customize” ที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการของคนไข้ได้อย่างแท้จริง คือสามารถจัดการให้เกิดการรักษากับคุณหมอที่เชี่ยวชาญที่สุดในโรคนั้นๆ ภายในวันเวลา สถานที่ และราคาที่คนไข้ต้องการหรือยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจสะดวกพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขณะที่คุณหมอที่รักษาอยู่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง แต่ ด็อกเตอร์ เอทูแซด ก็จะช่วยประสานงานจนทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริงๆ เป็นต้น

แน่นอนถือเป็น “จุดแข็ง” ที่ลอกเลียนแบบได้ยาก ก็เนื่องมาจาก ด็อกเตอร์ เอทูแซด เข้มแข็งในเรื่องของ “เครือข่าย” ที่เกิดขึ้นจากตัวคุณหมออนุชาที่เป็น อาจารย์แพทย์และหัวหน้าหน่วยศัลยแพทย์หลอดเลือด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และเป็นที่ปรึกษาโรงพยาบาลเอกชนถึง 10 แห่งเรียกว่ามีเครือข่ายแพทย์แทบทุกสาขา

ส่วน กรรณิการ์ เรียนจบรังสี เทคนิคการแพทย์ มหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี เธอมีประสบการณ์การทำงานกับบริษัทเครื่องมือแพทย์ระดับโลกและได้ติดตามศาสตราจารย์ที่เป็นผู้คิดค้นวิธีการรักษาและเทคนิคในการผ่าตัดใหม่ๆ เธอเป็นผู้จัดทำหลักสูตร “โค้ชชิ่ง” เทคนิคใหม่ วิธีการใหม่ให้กับแพทย์และพยาบาลห้องผ่าตัดทั่วประเทศไทยและในเอเชีย ซึ่งถือเป็นเครือข่ายที่ค่อนข้างกว้าง

ประเด็นสำคัญก็คือ เธอยังได้เห็นฝีมือการผ่าตัดของหมอแทบทุกคนอีกด้วย

ทำไมสนใจเส้นทางสตาร์ทอัพ? คุณหมอบอกว่า ในความเป็นหมอนั้นถือว่าการช่วยชีวิตคนคือเป้าหมายที่สำคัญ แต่มองว่าเทคโนโลยีจะช่วยเหลือชีวิตคนได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น

"เราไม่มีโรลโมเดล ทุกอย่างมาจากประสบการณ์ของพวกเรา สตาร์ทอัพด้านเฮลธ์เทคในไทยส่วนใหญ่จะเป็นเทเลเมดิซีน ไม่มีใครทำแบบเรา สตาร์ทอัพของต่างประเทศเองเขาก็ทำบิวตี้ หรือไม่ก็ทำฟัน ไม่ใช่มุ่งเรื่องหลักก็คือการรักษา การเข้าถึงหมอและโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานอย่างเรา"

ด็อกเตอร์ เอทูแซด มุ่งทำการตลาดแบบ “บีทูบี” ผ่านเอเยนต์ของแต่ละประเทศในการพาคนไข้เข้ามารักษาในประเทศไทย รวมถึงการเจาะเข้าไปในคอปอเรท หรือบริษัท องค์กรในเมืองไทยเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการรักษาพยาบาลสำหรับพนักงาน (ตามข้อกฏหมายบริการรูปแบบนี้ไม่สามารถทำการตลาดโดยตรงกับลูกค้าคนไทย)

"ถ้าบริษัทมีพนักงาน 50 คนแล้วไปซื้อประกันกลุ่ม ซึ่งถ้าพนักงานในกลุ่มใช้บริการกันมาก ประกันก็อาจจะเพิ่มเบี้ยหรือไม่ก็ต้องไปทำที่ใหม่ แต่ถ้าให้เราดูแล เราก็จะช่วยบริหารจัดการทุกอย่างให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการเซฟเวลาพนักงานในการไปพบแพทย์เพราะเราทำการบุ๊คกิ้งทุกอย่างไว้ให้แล้ว พนักงานแค่เดินเข้าไปก็เข้ารับการรักษาเลย และช่วยเซฟค่าใช้จ่าย เช่น ถ้าวงเงินสูงสุดของประกันสำหรับการตรวจสุขภาพพนักงานก็คือ 5 พันบาท เราก็จะไปหาออฟชั่นให้ว่ามีสถานพยาบาลอื่นมีเรทราคาเท่าไหร่เปรียบเทียบและแมตซ์ให้ เพื่อให้อยู่ในวงเงินโดยที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเพิ่ม เป็นต้น" กรรณิการ์ กล่าว 

ด็อกเตอร์ เอทูแซดวางแผนจะมี 4 เฟสในการพัฒนาและเติบโต เบื้องต้นก็คือการพัฒนาแพลตฟอร์ม ทำเว็บไซต์ รวบรวมรายชื่อคุณหมอ ,โรงพยาบาล ,แพ็คเก็จการรักษา, รีไควร์เมนท์ต่าง ๆของคนไข้  ช่วงเวลานี้ทีมงานต้องเดินสายไปหาความร่วมมือกับทางโรงพยาบาล และคุณหมอ แน่นอนว่าเวิร์คโฟร์ของการทำงานระยะแรกจะมีลักษณะแมนน่วล เพราะในการพัฒนาระบบแมชชิ่งแบบอัตโนมัติต้องอาศัยดาต้าจำนวนที่มากพอสมควร

"ในปีนี้เราก็พยายามพัฒนาระบบให้ใช้ได้ง่ายขึ้น สมูทขึ้น ควบคุมคุณภาพการบริการ ผมมองว่ามันเหมือนการเปิดคลีนิค วันแรก ๆคงไม่ค่อยมีคนเข้ามาใช้บริการ แต่อาศัยปากต่อปากก็จะทำให้มันสเกลได้ ผมมั่นใจอย่างนั้น คือถ้าเราเซอร์วิสดี ก็ไม่มีเหตุผลที่คนจะไม่มาใช้บริการของเรา"

เวลานี้ด็อกเตอร์ เอทูแซด ได้รับการยอมรับจากเวทีใหญ่ ๆมาหลายแห่ง คือได้รับคัดเลือกเป็นเดอะวินเนอร์ในโครงการ “Allianz Ayudhya Activator” (มีผู้ร่วมแข่ง 125 ทีม) ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 11 ทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการ “ดีแทค แอคเซอเลอเรท ปีที่ 6” ทั้งยังได้รับคัดเลือกจากโครงการ “Runway to RISE” ได้เป็นตัวแทนไปแข่งในเวทีที่ฮ่องกง

ทำไมชื่อ ด็อกเตอร์ เอทูแซด จุดเริ่มต้นมาจากตัวผู้ก่อตั้ง  “คุณหมออนุชา” มีอักษรตัวหน้าของชื่อคือ “เอ” โดยต้องการสื่อว่าจะมีคุณหมอที่ชื่อขึ้นต้นด้วยตัวเออยู่หลายท่าน และกว่าไปถึงตัวแซดก็คือจะมีคุณหมอจำนวนมากมายหลายสาขาอยู่บนแพลตฟอร์มแห่งนี้ เพื่อให้คนไข้ได้คอนเน็คเข้ารับการปรึกษาและรักษา

ส่วนโลโก้นั้นเป็นรูปดวงดาวซึ่งมีอยู่ดวงหนึ่งที่ลอยเด่นกว่าใคร โดยนัยก็คือ ด็อกเตอร์ เอทูแซด ต้องการเป็นดาวเด่นในหมู่เฮลธ์เทค สตาร์ทอัพ และมีส่วนในการนำพาประเทศไทยสู่การเป็น “เมดิคอลฮับ”

คุณหมออนุชาบอกว่า วิชั่นของด็อกเตอร์ เอทูแซด ก็คือ การเป็น “เมดิคอล แมชชิ่ง เน็ทเวิร์ค” ในระดับ “โกลบอล” หมอที่อยู่ในแพลตฟอร์มในอนาคต ไม่ใช่แค่หมอคนไทยเท่านั้น แต่เป็นหมอเกาหลี สิงค์โปร์ หมอทั่วโลก และไม่เพียงแค่บริการคนไข้ต่างชาติเข้ามารักษาในไทย เพราะมีแผนให้บริการคนไทยที่ต้องการไปรักษาตัวที่ต่างประเทศด้วย