รู้จัก 'วิทยุถ้ำ' อังกฤษส่ง4ชุด ช่วย13ชีวิตในถ้ำหลวง

รู้จัก 'วิทยุถ้ำ' อังกฤษส่ง4ชุด ช่วย13ชีวิตในถ้ำหลวง

"วิทยุถ้ำ" เหมาะพื้นที่แคบและมีน้ำท่วมสูง เผย "อังกฤษ" ส่ง4ชุด ช่วย13ชีวิตติดถ้ำหลวง

ปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและโค้ช "ทีมหมูป่า อคาเดมี่" รวม 13 ชีวิต ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วน และเทคโนโลยีการค้นหาที่ทันสมัยระดับโลก ไปใช้ในภารกิจสำคัญที่คนไทยทั้งประเทศส่งกำลังใจไปช่วยอยู่ในขณะนี้

หากดูอุปกรณ์บางอย่างแม้ดูเผินๆ อาจจะไม่ได้ทันสมัยไฮเทคมากนัก แต่กลับมีความจำเป็นสำหรับปฏิบัติการในพื้นที่แคบๆ และมีน้ำท่วมสูงอย่าง "ถ้ำหลวง" ซึ่งหนึ่งในอุปกรณ์ที่ว่านี้ก็คือ "วิทยุถ้ำ"

"วิทยุถ้ำ" อุปกรณ์การสื่อสารที่ไม่ได้ดูไฮเทคอะไร แต่กลับจำเป็นและเหมาะสมอย่างยิ่งในการใช้สื่อสารในปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

นายพันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสาร บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในถ้ำนั้น อุปกรณ์สื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้องใช้ในการติดต่อระหว่างผู้ที่อยู่ในถ้ำกับผู้ที่อยู่ปากถ้ำ หรือผู้ที่อยู่ในถ้ำด้วยกันเอง ให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะทุกนาทีหมายถึงเดิมพันชีวิตของผู้ประสบภัยที่กำลังรอคอยความช่วยเหลือ แต่การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือวิทยุรับ-ส่ง และเครื่องมือสื่อสารที่ใช้งานตามปกติบนพื้นดินที่อยู่นอกถ้ำ รวมไปถึงการใช้นกหวีดหรือการตะโกน ย่อมไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ "ถ้ำ" เป็นพื้นที่ปิดสำหรับการติดต่อสื่อสารแทบทุกประเภท

เหตุนี้เอง "นักผจญถ้ำมืออาชีพ" จึงต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่ออกแบบมาใช้ช่วยเหลือคนติดถ้ำโดยเฉพาะ นั่นก็คือ "วิทยุถ้ำ" หรือ Cave radio บางแห่งเรียกว่า "โทรศัพท์ถ้ำ" หรือ Cave phone

คุณสมบัติเฉพาะของ "วิทยุถ้ำ" คือ ใช้คลื่นวิทยุความถี่ต่ำ เพราะต้องสื่อสารในที่แคบและผ่านน้ำ แต่ต้องต้องใช้สายอากาศที่ยาวมาก ทว่าต่อมาในช่วงปีคริสตศักราช 1970 นักผจญถ้ำชาวอังกฤษได้ทดลองใช้อุปกรณ์สื่อสารความถี่วิทยุย่านต่ำมาก เรียกว่า Very Low Frequency หรือ VLF เพื่อติดต่อระหว่างในถ้ำกับภายนอก และได้รพัฒนาสายอากาศที่มีประสิทธิภาพจนเป็นผลสำเร็จ

ต่อมาในยุคหลังๆ มีการพัฒนา "วิทยุถ้ำ" ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม นิยมใช้กัน 2 แบบ คือ แบบ "HeyPhone" ออกแบบโดยนักผจญถ้ำชาวอังกฤษชื่อ John Hey และอีกแบบหนึ่งเป็นระบบของฝรั่งเศส เรียกว่า Nicola System ทั้งสองแบบทำงานที่ความถี่ 87 กิโลเฮิรตซ์ ซึ่งถือว่าเป็นความถี่ต่ำกว่าอุปกรณ์สื่อสารประเภทวิทยุรับ-ส่ง ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง กินไฟน้อย และมีประสิทธิภาพในการสื่อสารที่ไกลกว่าเดิม เพราะมีการปรับเปลี่ยนระบบสายอากาศใหม่ โดยใช้สายอากาศประเภทที่เรียกว่า "สายอากาศลงดิน" ซึ่งถ้าใช้ภายในถ้ำ พื้นถ้ำหรือผนังถ้ำก็คือส่วนหนึ่งของสายอากาศนั่นเอง ทำให้สื่อสารได้ไกลมากถึง 800 เมตร

"วิทยุถ้ำ" แบบ HeyPhone นิยมใช้สำหรับการช่วยเหลือผู้ติดถ้ำในประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรช่วยเหลือผู้ประสบภัยแห่ง เดอบี ไชร์ (Derby Shire Rescue Organization) ซึ่งองค์กรนี้ได้ส่ง "วิทยุถ้ำ" แบบ HeyPhone มาช่วยในปฏิบัติการถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จำนวน 4 ชุดด้วยกัน

ภาพประกอบจาก http://mmmmargot.blogspot.com/2010/10/rescue-room-for-improvement.html