ยุคทอง 'หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ'

ยุคทอง 'หุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ'

การใช้งาน “หุ่นยนต์” และ “ระบบอัตโมมัติ” กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรมในประเทศไทย

นรากร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) และรองประธานกลุ่มผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย(Thai Automation and Robotics Association หรือ TARA) กล่าวว่า การใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัติโนมัติในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้แบบก้าวกระโดด ขณะนี้องค์กรทุกระดับตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ให้ความสนใจ และพยายามศึกษาความเป็นไปได้ว่าจะสามารถนำมาใช้อะไรได้บ้าง

แต่ทั้งนี้ หลายรายยังไม่ทราบว่าควรเริ่มต้นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้หากจะเดินไปข้างหน้าได้ดีจำต้องได้รับการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ พร้อมๆ ไปกับการให้ความรู้กับตลาดวันนี้ทุกคนรู้ว่าจะต้องนำมาใช้ แต่ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไร และใช้อะไรได้บ้าง

สำหรับ กลุ่มที่มีความตื่นตัวอย่างมากและเริ่มนำมาใช้ให้เห็นชัดเจนหนีไม่พ้นองค์กรขนาดใหญ่ เนื่องจากมีความพร้อม ขนาดการนำมาใช้งานจริงมีความสมเหตุสมผลกับการลงทุน ทุกรายเห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่รัฐให้ และมั่นใจว่าจะมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ทำให้กำไรมากขึ้น เบื้องต้นมองถึงจุดคุ้มทุน(อาร์โอไอ) ระยะสั้นไว้ 3 ปี

ส่วนองค์กรขนาดกลาง มีความตื่นตัวอย่างมากเช่นกัน ขณะนี้เริ่มมีการมองหา ทาบทามผู้ให้บริการมาจัดทำระบบให้ ทว่ามีความระมัดระวังเรื่องการลงทุนเนื่องจากงบประมาณค่อนข้างจำกัด เบื้องต้นธุรกิจเอสเอ็มอีหากต้องการใช้หุ่นยนต์เพื่อทดแทนแรงงานคน 1 คน ในงานพื้นฐานไม่ซับซ้อนมากใช้งบราว 6-7 แสนบาท หากเป็นองค์กรขนาดใหญ่จะแพงกว่า 2 เท่า ขณะที่งานที่เป็นที่นิยมนำมาใช้แพร่หลายมักเป็นที่เกี่ยวกับระบบสมาร์ทแวร์เฮาส์ หรือ สำหรับยกของที่มีนำ้หนักมาก งานเสี่ยงอันตราย

ยุคทองระบบอัตโนมัติ

นรากรกล่าวว่า สภาพตลาดมีปัจจัยบวกจากมาตรการของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ที่จะสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติมาแทนของเดิม โดยให้สิทธิ์ประโยชน์ด้านภาษีซึ่งหากเป็นการลงทุนที่มีสัดส่วนการทำงานในประเทศไทยเกิน 30% ของมูลค่าโครงการจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 100% ของมูลค่าโครงการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนก.ย. 2560 ถึงสิ้นปี 2563 นับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านระบบอัตโนมัติอย่างกว้างขวาง นำมาสู่ยุคทองของผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติในประเทศไทย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบุว่า กลไกที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะมาจาก 1.การกระตุ้นอุปสงค์ให้เกิดความต้องการใช้งาน 2.การสนับสนุนอุปทานทำให้ผู้ผลิตในประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง แข่งขันได้ 3.พัฒนาบุคลากรและยกระดับเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี ปัญหาและอุปสรรคสำคัญมีหลายประเด็น เช่น การได้งานจากการประกวดราคาซึ่งอาจมีความไม่โปร่งใส ส่งผลทำให้ตลาดพัฒนาไปได้ช้า ยังไม่มีมาตรฐานวิชาชีพทำให้การต่อรองกับลูกค้าทำได้ยาก ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินค่าดูแบบและบางครั้งต้องทำงานไปฟรีๆ พร้อมถูกขโมยไอเดียไป

นอกจากนี้ เป็นงานที่จบยาก ไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ทั้งหมด เนื่องจากแม้งานออกมาได้มาตรฐานที่ควรจะเป็นแล้ว แต่ลูกค้าอาจยังไม่พอใจ ทางบริษัทเองไม่สามารถเขียนรายละเอียดทุกอย่างลงในข้อสัญญาได้ทั้งหมด

ผนึกกำลังตั้งสมาคมหนุน

นรากรเล่าว่า ด้วยการเติบโตและข้อจำกัดที่เป็นอยู่จึงมีแนวคิดรวมกลุ่มกันระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันพร้อมจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย

ขึ้น ทำหน้าที่ให้ข้อมูลความเคลื่อนไหว ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ อย่างบีโอไอ จัดงานสัมมนา กิจกรรมอีเวนท์ที่จะช่วยส่งเสริมการตลาด เสริมความรู้สมาชิก จัดทำฐานข้อมูล และที่ขาดไม่ได้ช่วยกันมองหาจุดแข็งที่แต่ละรายมีอยู่เพื่อนำออกมาเสนอสู่ภายนอก โดยช่องทางติดต่อเปิดไว้ 2 ทางคือ เว็บไซต์ thaitara.org และไลน์แอท tara_2017

ที่ผ่านมา เริ่มเข้าไปประสานงานกับบีโอไอ สถาบันการศึกษา เข้าร่วมงานอีเวนท์เทรดโชว์ต่างๆ รวมไปถึงเข้าไปพูดคุยกับองค์กรเอกชนที่ต้องการลงทุน เพื่อช่วยกันศึกษาความเป็นไปได้ ความคุ้มค่าการลงทุน และการนำปรับใช้ให้เหมาะกับโจทย์ธุรกิจ

ปัจจุบัน มีสมาชิกผู้ประกอบการไทยด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ซอฟต์แวร์ และบริการที่เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกอยู่ประมาณ 85 ราย เชื่อว่าจะการรวมตัวกันลักษณะนี้จะยิ่งทำให้การทำตลาดมีความคล่องตัวมากขึ้น จากเดิมที่ผลประกอบการเติบโตได้ปีละ 10% เมื่อรวมกันแล้วน่าจะทำได้ดีกว่าเดิม

วิลาวัณย์ อติวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัท ฟาร์มาซูติคอลส์ แอนด์ เมดิคอลซัพพลาย จำกัด เสริมว่า ก้าวต่อไปจะเริ่มมีพัฒนาการจากการใช้งานระดับพื้นฐาน ไปสู่การแก้ปัญหาให้กับธุรกิจ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

ในมุมของผู้ประกอบการเชื่อว่า โอกาสทางการตลาดเปิดกว้างอย่างมาก ทั้งผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศให้กับบริษัทไทยเอง บริษัทข้ามชาติ และส่งออกได้ทั่วโลก ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านนี้รวมมีอยู่กว่า 300 ราย บางรายสามารถทำรายได้ได้หลายพันล้านบาท ด้านคุณภาพงานไม่ได้ด้อยไปกว่าต่างชาติ และมีจุดแข็งด้านราคาที่ทำได้ถูกกว่า 30-40%

อย่างไรก็ตาม การนำเทคโลยีที่เป็นขั้นกว่าอย่างปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาใช้ในภาคการผลิตอาจต้องรอไปอีก 5 ปี ด้วยระยะนี้ยังเป็นการเริ่มต้น ปูทางการรวบรวมข้อมูล ให้การศึกษาตลาด และพัฒนาอัลกอริทึมต่างๆ