‘จริยธรรมวิทย์ฯ' สกัดเหลื่อมล้ำ-ละเมิดสิทธิ

 ‘จริยธรรมวิทย์ฯ' สกัดเหลื่อมล้ำ-ละเมิดสิทธิ

จากแฟรงเกนสไตน์จนถึงเรื่องของการคัดเลือกทางพันธุกรรมและหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ก่อเกิดกระแสวิพากษ์และความวิตกกังวลในแง่ของความเหมาะสม ประโยชน์และโทษ ทั้งในมุมจะช่วยทำให้พัฒนาการด้านการวิจัยดีขึ้น และในมุมว่าอาจเกิดสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นอันตรายต่อมนุษย์

“หุ่นยนต์ อาจเป็นอาวุธได้, การปรับแต่งยีนอาจสร้างเด็กอัจฉริยะ ไม่มีโรคทางพันธุกรรม ก็จะเกิดขึ้นได้แม้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ายังมีหลายประเด็นที่ต้องระมัดระวังปัญหาที่จะตามมา” ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ สมาชิกของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม กล่าวในงานเสวนา “เปิดประตู...จริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)

ของใหม่ ยังต้องระวัง

นวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง ก้าวหน้า และสามารถพลิกโลกที่เราเคยอยู่อาศัย จนบางครั้งมนุษย์เราไม่สามารถรับมือได้ทัน เช่นเดียวกันกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีจีโนม ที่ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แนวทางการบริหารจัดการประเด็นทางกฎหมายและจริยธรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีจีโนม กล่าวว่า นำไปสู่การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาโรค ตลอดจนการคัดเลือกเพศหรือพันธุกรรมของบุตร แต่ก็ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงสังคมในมิติที่หลากหลาย

จากโครงการ 1 ล้านจีโนมที่มีการหาลำดับพันธุกรรมมนุษย์ เกิดการต่อยอดสู่โครงการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่จำเพาะต่อโรคและมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 1 แสนคนต่อโครงการ จำนวนไม่น้อยกว่า 60 โครงการ และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 25 ล้านคน

“กรณีการใช้ข้อมูลจีโนมสืบหาฆาตกรต่อเนื่องของสหรัฐที่ชื่อว่า นักฆ่าโกลเดนสเตท จากการนำข้อมูลจีโนมที่พบในที่เกิดเหตุไปสืบค้าฐานข้อมูลดีเอ็นเอ จนกระทั่งพบตัวฆาตกรในที่สุด ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี แต่ก็ยังคงมีความวิตกกังวลในหลายพื้นที่” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ปัญหาหลักทางด้านจริยธรรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถกเถียงกันมานานมีอยู่ 3 เรื่องคือ 1.ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Dignity) เช่น เรื่องของการเลือกเพศเด็กว่าทำไมต้องมากำหนดเพศ และหากการคัดเลือกพันธุ์ที่ไม่มีเหตุผล จะส่งผลให้สปีชีย์นั้นๆ อ่อนแอลงก็เป็นได้ 2. ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ที่หากเกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวจากข้อมูลจีโนมแล้ว ภาครัฐจะช่วยเหลืออย่างไร และ 3. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)

กฎหมายพร้อมรองรับ

กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สวทน. กล่าวว่า นอกจากเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ไทยยังรับไม่ทันเรื่องของกติกา ทำให้มีปัญหาอยู่ 2 อย่างคือ กติกาที่มีอยู่เดิมนั้นเปลี่ยนยาก จากทั้งความเคยชินและกฎหมาย ในขณะที่ของใหม่ที่ไม่มีหรือไม่เคยมีกติกา ก็ต้องเร่งวางกรอบกติกา

“เพื่อรับมือความเสี่ยงจากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี จำเป็นต้องมีกลไกในการดำเนินงานในเชิงจริยธรรม กฎหมายและสังคม สวทน. กำลังเดินหน้าทำจัดทำร่าง พ.ร.บ. Regulatory sandbox โดยจะเป็นกะบะทรายที่จำกัดของเขตของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมนั้นๆ ให้อยู่ในพึ้นที่ที่กำหนด เช่น การทดลองใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน เริ่มร่างคอนเซปท์ในมุมของกฎหมายแล้ว”

นอกจากนี้ การสร้างกลไกการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านนัยเชิงจริยธรรม กฎหมายและสังคม หรือ Ethical Legal Social Implications (ELSI) ระหว่างหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบ วทน.รวมถึงสร้างความตระหนัก และความมีส่วนร่วมของสังคม การเตรียมตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับไวของความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตลอดจนการปรับตัวเชื่อมโยงการดำเนินงานทางด้าน ELSI ของประเทศไทยต่อเวทีโลก

กลไกดังกล่าว ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 การประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 และการประชุมเชิงวิชาการว่าด้วย นัยทางจริยธรรม กฎหมาย และสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงศึกษาธิการ จะร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 1-5 ก.ค.2562