'ประยุทธ์' สักขีพยานแลกเปลี่ยนสัญญา ธีออส2

'ประยุทธ์' สักขีพยานแลกเปลี่ยนสัญญา ธีออส2

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ร่วมเป็นสักขีพยานการแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญาดาวเทียมธีออส 2 ระหว่าง GISTDA กับ Airbus Defence & Space SAS ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส

เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 2561 เวลา 15:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับเวลา 20:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ณ ทำเนียบประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส กรุงปารีส ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นสักขีพยานร่วมกันในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญาดาวเทียมธีออส 2 ระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กับ Airbus Defence & Space SAS ตามที่ได้มีการลงนามไปแล้วในประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดรายละเอียด เงื่อนไขด้านต่างๆ รวมถึงการเตรียมการทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ สำหรับการดำเนินงานโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2


โครงการธีออส 2 หรือระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2560 โดยมอบให้ GISTDA รับผิดชอบโครงการ เพื่อสานต่อภารกิจจากดาวเทียมไทยโชตที่หมดอายุการใช้งาน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องใน 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านความมั่นคงของรัฐและสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการจัดการเมืองและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ


ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญของ ธีออส-2 ไม่ใช่แค่การจัดหาดาวเทียม แต่เป็นต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานต่าง ๆ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าด้วยข้อมูลจากดาวเทียมของไทย และของกลุ่มดาวเทียม รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก big data ที่เกิดขึ้นจากทุกแหล่งทั้งระบบ sensor, นโยบาย และ crowdsourcing โดยขณะนี้จิสด้าอยู่ระหว่างคิดค้นและพัฒนาระบบที่มีการนำเทคโนโลยี intelligence ให้เข้ามามีบทบาทและเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักที่สำคัญของการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับทรัพยากรบนโลกในทุกด้าน โดยระบบที่ว่านี้มีชื่อเต็มๆ ว่า Actionable Intelligence Policy Platform หรือ AIP ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้มีระบบวางแผน ตัดสินใจ ติดตาม วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลสถานการณ์เชิงพื้นที่ของประเทศอย่างละเอียด ทันต่อเหตุการณ์ ส่งผลให้การบริหารจัดการในทุกพื้นที่ของประเทศมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน ภายใต้ระบบที่เป็น 1 เดียว


อย่างไรก็ตาม โครงการธีออส 2 ยังคงมีความจำเป็นต้องมีดาวเทียมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมจำนวน 2 ดวง เป็นดาวเทียมหลักที่มีรายละเอียดสูง 50 ซม. จำนวน 1 ดวง เป็นดาวเทียมที่ทันสมัยที่สุดสำหรับการใช้งานระดับพลเรือน ส่วนอีก 1 ดวง เป็นดาวเทียมดวงเล็กขนาด 50-100 กิโลกรัมที่จะสร้างเองในประเทศไทย โดยคนไทย สำหรับการใช้งานด้านการสำรวจอีกด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในดาวเทียมประเภทอื่นๆ อาทิ ดาวเทียมเพื่อการวิจัย ซึ่งตอนนี้มีหลายกลุ่มเริ่มให้ความสนใจที่จะเอาเทคโนโลยีพื้นฐานจากโครงการธีออส 2 ไปต่อยอดในด้านอื่นๆ เช่น การติดตามวัตถุอวกาศ การศึกษาชั้นบรรยากาศของโลก เป็นต้น