พลิกโฉมอุตฯด้วยเครื่องพิมพ์ 3D

พลิกโฉมอุตฯด้วยเครื่องพิมพ์ 3D

เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติและวัสดุคอมโพสิท ที่เข้ามาเปลี่ยนโมเดลธุรกิจในอุตสาหกรรมพลาสติก จากการผลิตรูปแบบแมสโปรดักส์ขยับเป็นนิช สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

บิ๊กดาต้า ไอโอทีและปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วนให้ทุกวงการ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติและวัสดุคอมโพสิท ที่เข้ามาเปลี่ยนโมเดลธุรกิจในอุตสาหกรรมพลาสติก จากการผลิตรูปแบบแมสโปรดักส์ขยับเป็นนิช สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งช่วยผลักดันให้ระบบอุตสาหกรรมพัฒนาไปสู่โรงงานอัจฉริยะได้ด้วย

ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือและวางแผนกลยุทธ์ให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

เทคโนฯเปลี่ยน โมเดลเปลี่ยน

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนโมเดลการทำธุรกิจแบบเดิมให้ต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติเป็นหนึ่งในนั้น ที่เข้ามามีผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมพลาสติกเช่นเดียวกับเทคโนโลยีแขนกล หุ่นยนต์ ไอโอที ฯลฯ โดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสีย ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ยกตัวอย่าง หากต้องการทำแขนเทียมสำหรับผู้พิการ สามารถออกแบบจากที่ไหนก็ได้ แล้วส่งไปผลิตในจังหวัดที่ผู้พิการอยู่ได้ทันที ทำให้เกิดโมเดลการทำธุรกิจใหม่ เช่น คนที่อยากทำผลิตภัณฑ์พลาสติกไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องฉีดเครื่องเป่า ซื้อแค่เครื่องพิมพ์แบบสามมิติก็สามารถผลิตชิ้นงานที่ออกแบบได้ทันที สามารถตอบโจทย์ตลาดได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ในวงการแพทย์ วงการก่อสร้าง นำมาใช้แล้วแต่ราคาเครื่องค่อนข้างสูง

ปัจจุบันพัฒนาการของการใช้เครื่องพิมพ์แบบสามมิติ จะเป็นการพัฒนาด้านวัสดุที่นำมาใช้กับเครื่อง ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมพลาสติกจากเดิมที่เป็นแมสโปรดักส์ชั่นกลายเป็นนิช ที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคแบบเฉพาะเจาะจงได้หลากหลายขึ้น

“กระบวนการผลิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ต้องสร้างโมก่อน แล้วจึงฉีดวัสดุลงไป นอกจากนี้ เทคนิคการสร้างชิ้นงานด้วยการเติมวัสดุ (additive manufacturing) ของเครื่องพิมพ์สามมิติยังทำให้สูญเสียวัตถุดิบน้อยกว่าการผลิตแบบทั่วไป ซึ่งมักเริ่มด้วยวัสดุที่เป็นบล็อกใหญ่และตัดส่วนที่ไม่ต้องการออกอีกด้วย”

พื้นฐานการเพิ่มผลผลิต 5 ส.

ดนู โชติกพนิช นายกสมาคมไทยคอมโพสิท และ กรรมการบริหาร บริษัท คอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า คอมโพสิทเป็นวัสดุที่ประกอบด้วยการรวมวัสดุมากกว่า 2 ประเภทเข้าด้วยกัน โดยทั่วไปคอมโพสิตจะมีวัสดุที่เป็นเนื้อหลักและวัสดุเสริมแรง

ไฟเบอร์กลาสหรือคาร์บอนไฟเบอร์ ถือเป็นวัสดุคอมโพสิท ที่ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องบิน ก่อสร้าง และเรือ เนื่องจากมีน้ำหนักเบาแข็งแรงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง เครื่องบินโบอิ้ง 787 ที่มีโครงสร้างทำด้วยไฟเบอร์กลาส น้ำหนักลดลงไปเกือบ 50% ทำให้กินน้ำมันน้อยลง บินได้เร็ว มีเสียงรบกวนน้อยและแรงกดอากาศภายในห้องโดยสารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้ผู้โดยสารพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ไม่เกิดอาการเมาเวลา (Jet lag)

จากพัฒนาการของไฟเบอร์กลาสหรือคาร์บอนไฟเบอร์ ที่มาจากพลาสติกทำให้ราคาต่อหน่วยสูงมากกว่าพลาสติก แม้ว่าปริมาณการใช้ภาพรวมไม่เท่าพลาสติก ส่วนแนวทางการพัฒนานวัตกรรมต้องทำให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ทันกับความเปลี่ยนแปลง มิเช่นนั้นจะต้องสูญเสียโอกาสหรือล้มหายตายจากเหมือนกับธุรกิจฟิล์ม ซีดี

ขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนการผลิตโดยเริ่มจาก 5 ส.ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบบคุณภาพและการเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืนเหมือนอย่างที่บริษัทคอบร้าฯ ทำจนกระทั่งสามารถที่จะขยับจากโรงงานผลิตกระดานโต้คลื่นไฟเบอร์กลาส มาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและพ่นสีในอุตสาหกรรมรถยนต์

ชวัตร ตรังอดิศัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า แนวทางการปรับตัวให้รับการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากเรื่องง่ายก่อน อาทิ การจัดวางผังโรงงานให้เหมาะสม การทำ 5 ส. ในโรงงาน เพื่อที่จะให้การผลิต มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนที่ขยับไปทำระบบอัตโนมัติ การใช้หุ่นยนต์ การปูพื้นฐานที่ดี ตั้งแต่ระบบเอกสารที่แม่นยำจะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ มากกว่าเรื่องราคา โดยเฉพาะเป็นโรงงานที่รับจ้างผลิต ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะดิสรัปธุรกิจได้

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบริษัทเริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้วขยับไปผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินและเครื่องมือแพทย์ โดยการศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมที่ปรับตัวรับการทำงาน ความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานรับรองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้า