มติก.ค.ศ. ไม่ทบทวนเกณฑ์วิทยฐานะว13

มติก.ค.ศ. ไม่ทบทวนเกณฑ์วิทยฐานะว13

“ธีระเกียรติ” เผยมติบอร์ดก.ค.ศ.ไม่ทบทวนเกณฑ์วิทยฐานะ ว13 เปิดช่องให้ยื่นขอทบทวนให้เป็นรายกรณี แต่ต้องมีเหตุผลโดยแจ้งผ่านสพฐ.มายัง ก.ค.ศ.แจงตามกฎหมายทำทั้งล็อตไม่ได้ “พินิจศักดิ์” ระบุเฉพาะที่ไม่รับรองกว่า 1 พันรายกำลังจะเกษียณ 40 คนถ้ายื่นขอทบทวนจะเร่งพิจารณาก่อน

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. ) ว่า ที่ประชุมพิจารณากรณีผู้ได้รับผลกระทบตามกรณีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาว่าเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินเพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ ศธ.0206.3/ว13 เรื่อง การให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ จำนวนกว่า 1 พันรายซึ่งเปิดให้ยื่นตั้งแต่ 2559 และเพิ่งได้รับแจ้งผลการประเมินปี 2561 ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมและขอให้ทบทวนหลักเกณฑ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติ ยืนยันที่จะไม่ทบทวนหลักเกณฑ์การขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ

“ที่ประชุมก็พิจารณาว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ดังกล่าวมีสิทธิที่จะขอความเป็นธรรมซึ่งทางออกคือจะรับทบทวนเป็นรายกรณี โดยให้ผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณามีหนังสือขอทบทวนพร้อมเหตุผลผ่านต้นสังกัด และหากขอทบทวนแล้วผลไม่เป็นที่พอใจก็สามารถที่จะฟ้องศาลปกครองได้ตามสิทธิ แต่การจะให้ทบทวนยกล็อตโดยกฎหมายแล้วทำไม่ได้” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

ด้าน นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากการประเมินตามเกณฑ์ ว 13 รู้สึกว่าเสียสิทธิ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาของสำนักงานก.ค.ศ. สามารถแจ้งขอให้ทบทวน ได้โดยให้แจ้งผ่านต้นสังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเสนอให้สำนักงานก.ค.ศ. พิจารณาเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ผู้ที่ข้อเข้ารับการประเมินวิทยฐานะ ตามเกณฑ์ ว13 ในกลุ่มดังกล่าว มีจำนวน 5,337 ราย พิจารณาไปแล้ว 1,888 ราย เป็นผู้มีคุณสมบัติ 364 ราย และเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติ 1,524 ราย ในจำนวนนี้ คาดว่าเป็นผู้ที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 ก.ย. 2561 ประมาณ 40 รายเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมจะเร่งพิจารณากลุ่มนี้ก่อน แต่เจ้าตัวต้องยื่นเสนอขอทบทวนผ่านสังกัดมาด้วยตัวเอง ส่วนที่ขอให้มีการทบทวนการ รับรองรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไปตาม ว1 จำนวน 203 รางวัลนั้น ที่ประชุมมีมติจะยึดหลักเกณฑ์การประเมินรางวัลตาม ว1 เช่นเดิม และจะไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินระหว่างทาง เพราะวันที่เสนอและมีการรับรอง 203 รางวัล เป็นไปอย่างถูกต้องแล้ว

“ก.ค.ศ. ยืนยันว่า ไม่ได้ลิดรอนสิทธิใคร เมื่อมีผู้ร้องเรียนมาก็เปิดโอกาสให้ทบทวน แต่ให้ทบทวนเป็นรายบุคคลไม่ใช่การให้ยกล็อตทั้งหมด ใครที่คิดว่ามีปัญหาก็ให้เสนอขอทบทวนเข้ามา ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา กว่า 3,000 รายต้องรอผลการพิจารณาจากสำนักงานก.ค.ศ. ว่า เป็นผู้มีคุณสมบัติหรือไม่”นายพินิจศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ การนำผลงานมาเสนอเทียบเคียงเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติขึ้นไป จะวิเคราะห์ตามองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ได้แก่ 1 ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานจนเป็นที่ประจักษ์และมีหลักฐานชัดเจน 2 มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 3 เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ชุมชน สังคม วงวิชาการ และวงวิชาชีพ และ 4 เป็นแบบอย่างที่ให้ผู้อื่นสามารถนำไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้ โดยต้องมีเอกสารหลักฐานมาประกอบการพิจารณาด้วย