'แกรนท์ ธอนตัน' เผยสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจไทยโตในระดับต่ำ

'แกรนท์ ธอนตัน' เผยสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจไทยโตในระดับต่ำ

"แกรนท์ ธอนตัน" เผยสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจไทยโตในระดับต่ำ เหตุสถานภาพทางการเมืองของไทย ส่งผลให้การเติบโตหยุดชะงักบ่อยครั้ง

จากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตกลงจากจุดสูงสุดในช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ตามรายงานผลสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน (Grant Thornton’s International Business Report - IBR) อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงมุมมอง 2 ด้าน คือ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในจีนและญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วนั้นลดลง ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยนั้นมีระดับความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ส่วนระดับโลกดัชนีความเชื่อมั่นได้ทะยานขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี

ผลสำรวจ IBR ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจทั่วอาเซียนสูงขึ้นถึงร้อยละ 61 ในไตรมาสแรก เทียบเท่าดัชนีไตรมาสสูงสุดที่เคยสำรวจไว้เป็นประวัติการณ์ โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 เป็นต้นมา ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในมาเลเซีย (ร้อยละ 28, เพิ่มขึ้นร้อยละ 22), สิงคโปร์ (ร้อยละ 34,เพิ่มขึ้นร้อยละ 12) และไทย (ร้อยละ 16, เพิ่มขึ้นร้อยละ 6) ผลสำรวจเหล่านี้สอดคล้องกับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโลกซึ่งทะยานขึ้นไปที่ร้อยละ 61 เช่นกัน ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 15 ปีของการสำรวจที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยรวมกลับลดลง เนื่องจากการลดลงของดัชนีดังกล่าวในจีนและญี่ปุ่น ทำให้ค่าเฉลี่ยสุทธิของภูมิภาคลงมาที่ร้อยละ 52 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของจีนลดลงจากค่าสูงสุดในไตรมาสสุดท้ายปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 78 มาอยู่ที่ร้อยละ 65 ในไตรมาสแรกของปีนี้ สำหรับประเทศญี่ปุ่นดัชนีดังกล่าวเคยอยู่ในแดนบวกในไตรมาสก่อนหน้า (ร้อยละ 3) แต่ลดลงมาเป็นร้อยละ -8 ในปีนี้ คาดว่าการย้ายภาคการผลิตต้นทุนต่ำจากประเทศจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาจมีผลกระทบเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน

ข้อมูลในผลสำรวจ IBR เป็นผลจากแบบสอบถามกว่า 10,000 ฉบับ จากธุรกิจทั่วโลก ซึ่งผลดัชนีต่างๆของประเทศไทยมีค่ามากกว่าศูนย์ในทุกคำถาม แสดงถึงผลตอบรับเชิงบวกที่มีมากกว่าเชิงลบ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มโดยรวมของประเทศไทยจัดว่าเป็นเชิงบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับข้อมูลจากประเทศอื่นๆ และข้อมูลของประเทศไทยในบางหัวข้อบ่งชี้ถึงการคาดการณ์เชิงบวกที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนๆ ขณะที่บางหัวข้อบ่งชี้ว่าลดลง แม้การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นสำหรับประเทศไทยเมื่อนับจากไตรมาสที่ 4 ปี 2560 เป็นต้นมา โดยรายได้ของธุรกิจต่างๆคาดว่าจะลดลงร้อยละ 10 (จากร้อยละ 36 เป็นร้อยละ 26) ด้านการส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนจากเดิมที่ร้อยละ -6 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 ขณะที่การปรับเพิ่มราคาขายในช่วงดังกล่าวลดลงจากร้อยละ 14 เหลือร้อยละ 8

นายเอียน แพสโค ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วนของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยส่วนใหญ่ขึ้นกับเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ สถานภาพทางการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมาไม่เป็นที่แน่นอน ทั้งความไม่มั่นคงและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การเติบโตหยุดชะงักบ่อยครั้ง

ทั้งนี้ไทยยังมีโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตอยู่อีกมาก เพียงแต่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าในระยะยาวแล้ว ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ดำเนินการปฏิรูปมาเป็นลำดับเพื่อให้การทำธุรกิจนั้นง่ายขึ้น แต่ด้วยการเลือกตั้งที่รอคอยมานานถูกกำหนดคร่าวๆ ว่าจะมีขึ้นในปี 2562 รัฐบาลชุดนี้ก็คงต้องดำเนินการดังกล่าวจนแล้วเสร็จ และด้วยบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่าเสียงข้างไหนจะได้รับการสนับสนุนมากกว่า

ขณะที่ข้อมูลหลายส่วนในผลสำรวจฯ ได้บ่งชี้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน แต่ดัชนีโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับดัชนีการเติบโตที่แท้จริงของประเทศไทยในปัจจุบัน ธนาคารโลกประกาศว่าเศรษฐกิจของไทยขยายตัวขึ้นร้อยละ 3.9 ในปี 2560 ซึ่งเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดของประเทศนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยคาดการณ์ว่าปีนี้การขยายตัวก็น่าจะใกล้เคียงกับระดับดังกล่าว ส่วนภาคการผลิตซึ่งเติบโตเป็นอย่างดีก็ได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้นในนิคมอุตสาหกรรม ด้วยรัฐบาลมีพันธกิจที่ชัดเจนในการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวผ่านโครงการประเทศไทย 4.0 และเมื่อไม่นานที่ผ่านมา อาลีบาบา กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนก็เพิ่งประกาศนโยบายการลงทุนของตนเพื่อยกระดับภาคดิจิตอลในประเทศไทย

“อุปสรรคของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัจจัยภายใน” นายเอียน แพสโค อธิบายขณะวิเคราะห์ผลสำรวจ “ที่ผ่านมามีการพูดถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจส่งผลให้บางธุรกิจหยุดชะงัก แต่ดัชนีความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจของสหรัฐก็อยู่ที่ร้อยละ 89 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนีดังกล่าวของไทยแม้จะสูงขึ้นแต่ก็ยังตามหลังอยู่มาก พูดง่ายๆ ก็คือองค์ประกอบที่ขาดหายไปสำหรับประเทศไทยคือความเชื่อมั่น ดัชนีพื้นฐานหลายตัวบ่งชี้ว่าประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แต่วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาทำให้นักลงทุนบางส่วนกลัว ยิ่งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นส่งผลออกมาดีเท่าไหร่ เราก็น่าจะยิ่งเห็นธุรกิจต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาด้วยความกล้าเดิมพันสู่ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” นายเอียน กล่าวทิ้งท้าย