ชงไทยผู้นำอุตฯชีวภาพอาเชียน

ชงไทยผู้นำอุตฯชีวภาพอาเชียน

ผลวิจัยจากนักวิชาการไบโอเทคชูไทยผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ระบุได้เปรียบด้านวัตถุดิบเกษตร ขณะที่องค์ความรู้เชิงลึกและเทคโนโลยีขั้นสูงต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเร่งด่วน

ผลวิจัยจากนักวิชาการไบโอเทคชูไทยผู้นำอาเซียนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ระบุได้เปรียบด้านวัตถุดิบเกษตร ขณะที่องค์ความรู้เชิงลึกและเทคโนโลยีขั้นสูงต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเร่งด่วน

นางสาววรินธร สงคศิริ หัวหน้าโครงการศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำอาเซียนทางด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบการเกษตรทั้งแป้ง น้ำตาล เซลลูโลส ปาล์มน้ำมัน แต่เทคโนโลยียังล้าหลังพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน

ภาครัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเร่งด่วนทั้งการพัฒนาองค์ความรู้เชิงลึก เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ รวมทั้งสนับสนุนงานวิจัยที่พร้อมนำไปต่อยอดในภาคอุตฯ เข้มแข็งขึ้น ขณะที่ในส่วนของบุคลากรวิจัยไทยนั้น พบว่ามีศักยภาพและความสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไม่แพ้ชาติใดๆ

“เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็น 1 ในอุตฯ เป้าหมายที่สร้างมูลค่าสูง ทั้งเป็นกลุ่มที่จะเติบโตเร็วในอนาคตจากฐานความพร้อมทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งมีอุตฯเคมีและเชื้อเพลิงเอทานอลที่พัฒนาแล้ว” นางสาววรินธร กล่าว

นักวิจัย กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจฐานชีวภาพในระดับนานาชาติ มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพโลกจะเพิ่มขึ้น 2.03 แสนล้านบาทในปี 2564 โดยสหรัฐผลิตและใช้สินค้าฐานชีวภาพมากกว่า 1.4 หมื่นรายการ และรัฐบาลมีมาตรการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อสินค้าฐานชีวภาพ ขณะที่สหภาพยุโรปผลักดันสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้ได้ 20% ในปี 2563

ในส่วนของประเทศไทย แนวทางส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพควรจะนำร่องที่ผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากเอทานอล กรดแลคติคจากแป้งมันสำปะหลังและน้ำตาล ผลิตภัณฑ์ต่อยอดไบโอดีเซล กลีเซอรอล เมทิลเอส เทอรันโฟเนต ที่มาจากพืชน้ำมัน (ปาล์ม) ซึ่งเป็นโจทย์จากภาคอุตฯที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเน้นการทำสารตั้งต้นมูลค่าสูง

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากผลงานวิจัย “การจัดทำแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดทำแผนที่นำทาง กรณีศึกษาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ” ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อนำเสนอแพลทฟอร์มการออกแบบเชิงนโยบายให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็น “หัวรถจักร” นำพาประเทศให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง