ทัพเรือดันแผนเปิดสนามบินอู่ตะเภา ขายซอง ต.ค.นี้.

ทัพเรือดันแผนเปิดสนามบินอู่ตะเภา ขายซอง ต.ค.นี้.

กองทัพเรือดันแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ตั้งเป้ารองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน ในอีก 15 ปี ด้าน “คณิศ” ระบุ จะออกทีโออาร์เมืองการบินอู่ตะเภาในเดือนต.ค. นี้ เซ็นสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือนก.พ.62 คาดใช้เงินลงทุนรวม 2 แสนล้านบาท พร้อมซอยสัญญาเอ็มโออาร์อู่ตะเภา

โครงการเมืองการบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นโครงสร้างพื้นฐานโครงการที่ 2 ที่ภาครัฐจะผลักดันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา)

พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผยระหว่างการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก ว่า การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์นานาชาติแห่งที่ 3 จะเปิดประมูลนานาชาติ และจะมีโครงสร้างพื้นฐานครบ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริหารสนามบิน สายการบิน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 200 ราย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า เมืองการบินภาคตะวันออกจะใช้เงินลงทุน 2 แสนล้านบาท โดยแบ่งทีโออาร์เป็น 6 โครงการ ซึ่งจะนำร่องศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) เป็นเฟสแรกก่อน โดยกันพื้นที่ส่วนเอ็มโออาร์ไว้ 500 ไร่ ซึ่งในเอ็มอาร์โอนี้จะแบ่งทีโออาร์ออกเป็นรายบริษัท เช่น ทีโออาร์ศูนย์ซ่อมบำรุงของแอร์บัส-การบินไทย พื้นที่ 200 ไร่ ทีโออาร์ศูนย์ซ่อมบำรุงของแอร์เอเชีย 60 ไร่ ที่เสนอแผนการลงทุนเข้ามา และยังมีบริษัทจากสิงคโปร์ก็สนใจจะเข้ามาลงทุนด้วย

ส่วนกรอบเวลาของการทำทีโออาร์นั้น ก่อนเดือนต.ค. 2561 จะต้องจัดทำกรอบทีโออาร์แล้วเสร็จ จากนั้นภายในเดือน ต.ค.2561 จะเปิดเชิญชวนนักลงทุน รวมทั้งออกทีโออาร์ และขายซองประมูล หลังจากนี้จะใช้เวลาพิจารณาและคัดเลือกนักลงทุนให้ได้ก่อนสิ้นปีนี้ และภายในเดือน ก.พ.2562 จะเซ็นสัญญากับผู้ร่วมลงทุน

ด้านภาคเอกชน จะเข้ามาร่วมลงทุนใน 6 โครงการ ได้แก่ 1. อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ซึ่งจะขยายจำนวนผู้โดยสารจากปัจจุบันที่ 2 ล้านคนต่อบี จะเพิ่มไปเป็น 15 ล้านคนภายใน 4-5 ปี ภายใน 10 ปี จะเพิ่มเป็น 30 ล้านคนต่อปี และภายใน 15 ปี จะเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี 2. ศูนย์ธุรกิจการค้า 3. กลุ่มอาคารคลังสินค้า 4. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ซึ่งจะมีเขตประกอบการเสรี เพื่อรองรับคอมเมิร์ซ เช่น อาลีบาบา อเมซอน 5. ศูนย์ซ่อมอากาศยาน 6. ศูนย์อบรมบุคลากรการบิน

“การรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนในครั้งนี้ จะเปิดให้เอกชนเข้ามานำเสนอโครงการเอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยเอกชนสามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเสนอรัฐบาลได้ตลอดเวลา”

ทั้งนี้ ในการเดินทางร่วมกับคณะของนายกรัฐมนตรีไปเยือนประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส ในระหว่างวันที่ 20-25 มิ.ย.นี้ จะไปชักชวนนักลงทุนอังกฤษ และฝรั่งเศส ให้เข้ามาลงทุนโครงการนี้ และหารือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานให้กับแอร์บัส 40 ราย ให้เข้ามาลงทุนในเมืองการบินนี้ด้วย