คิดหนักๆ ใจอ่อนเซ็น 'ค้ำประกัน-กู้ร่วม' หนี้ไม่ได้ก่ออาจรอตรงหน้า

คิดหนักๆ ใจอ่อนเซ็น 'ค้ำประกัน-กู้ร่วม' หนี้ไม่ได้ก่ออาจรอตรงหน้า

คิดหนักๆ ก่อน ใจอ่อนเซ็นค้ำประกัน-กู้ร่วม จะได้ไม่ช้ำใจภายหลัง หากผู้กู้ทั้ง 2 กรณีเบี้ยว ผู้ค้ำ-กู้ร่วม มีสิทธิถูกฟ้องชำระหนี้แทน

การเปิดศูนย์บริการให้คำปรึกษากฎหมายแก่ประชาชน เจ้าหน้าที่มักพบว่าปัญหาหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อในการปรึกษาเพื่อหาทางออกคือปัญหาหนี้สิน  วันนี้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำสื่ออินโฟกราฟฟิค เป็นข้อเตือนใจไปถึงประชาชน ที่กำลังจะเซ็นค้ำประกันหนี้ให้บุคคลอื่น  

 

ทั้งนี้การที่ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิทมาขอให้เราเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อซื้อรถยนต์  ด้วยความเกรงใจเรามักจะไม่กล้าปฏิเสธ เพราะคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร แต่ทราบหรือไม่ว่า หากบุคคลที่เราไปค้ำประกันให้นั้น ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาได้
 


แต่หากท่านถูกฟ้องชำระหนี้จากการค้ำประกันก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจปัญหายังพอมีทางออก โดยกฎหมายกำหนดสิทธิของผู้ค้ำประกันเมื่อเกิดการเบี้ยวหนี้ ไว้ดังนี้  การเป็นผู้ค้ำประกันแม้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ เมื่อบุคคลที่เราไปค้ำประกันให้นั้นไม่ชำระหนี้ตามสัญญา แต่กฎหมายยังคงให้สิทธิผู้ค้ำประกันในการขอให้เจ้าหนี้เรียกลูกหนี้มาชำระหนี้ก่อนได้  

 

เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือไม่ปรากฎว่าไปอยู่ที่ใด และถ้าหากผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้มีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่เป็นการยาก เจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน
 
นอกจากนี้ยังพบปัญหาหนี้สินจากการกู้ร่วม  โดยเกิดจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิท มาขอให้เราเป็นผู้กู้ร่วม ในการกู้ธนาคารเพื่อซื้อบ้าน โดยให้เหตุผลว่า หากกู้เพียงคนเดียวอาจกู้ไม่ผ่าน และสัญญาว่าหลังสถาบันการเงินอนุมัติเงินกู้แล้วจะรับผิดชอบผ่อนจ่ายเพียงคนเดียว  เมื่อถึงเวลาผ่อนจริงปรากฎว่าผู้กู้หลักไม่สามารถผ่อนจ่ายหนี้ให้กับธนาคารได้ ในกรณีนี้สถาบันการเงินสามารถฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้กู้ร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องผู้กู้หลัก เพราะถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วม