พม.ห่วงใยเด็กและเยาวชนเล่นพนันฟุตบอลโลก 2018

พม.ห่วงใยเด็กและเยาวชนเล่นพนันฟุตบอลโลก 2018

พม.ห่วงใยเด็กและเยาวชนเล่นพนันฟุตบอลโลก 2018 แนะผู้ปกครองเฝ้าระวังบุตรหลานอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมจัดงาน “ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0 : นวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อ

วันนี้ (14 มิ.ย. 61) เวลา 13.00 น. ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสุภัชชา สุทธิพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วย นายธำรง ธวัชวะชุม รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และ นางปิยะวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ร่วมแถลงผลการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวง พม. เกี่ยวกับมาตรการป้องกันปัญหาการพนันฟุตบอลออนไลน์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน และการลดผลกระทบจากการพนันในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ณ สหพันธรัฐรัสเซีย และประเด็นการเตรียมจัดงาน "ผู้สูงอายุไทยก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0 : นวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อผู้สูงอายุ และสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ (Innovation Food and Beverage)

ด้วยการแข่งขันฟุตบอลโลก (World Cup 2018) ณ ประเทศรัสเซีย ได้กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2561 ซึ่งประชาชนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและติดตามการแข่งขันเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกันมักมีการเล่นการพนันทายผลการแข่งขัน ประกอบการดูฟุตบอล ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีความห่วงใยถึงปัญหาการเล่นการพนันในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยเฉพาะกลุ่มของเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงที่สุดในประเทศ จากรายงานของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประจำปี 2560 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าอายุเล่นการพนันครั้งแรก น้อยที่สุด คือ 7 ปี เยาวชนร้อยละ 53.4 มีประสบการณ์เคยเล่นพนัน โดยเยาวชนกว่า 6 แสนคน เล่นพนันทายผลฟุตบอลในปี 2560 เป็นนักพนันหน้าใหม่กว่า 8 หมื่นคน เด็กและเยาวชน ร้อยละ 95.6 มีคนแวดล้อมเล่นการพนัน ในส่วนของการพนันยอดนิยมของเยาวชนในปี 2560 คือ การพนันทายผลฟุตบอล และมีแนวโน้มการเล่นสูงขึ้นอย่างน่าวิตก นอกจากนี้ พบว่าไม่มีเยาวชนนักพนันบอลรายใดที่ไม่ใช้สื่อประกอบการวิเคราะห์ และส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย เพราะเข้าถึงได้ง่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก เคเบิลทีวี เว็บไซต์ ทำให้เกิดการโฆษณาเชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เด็กและเยาวชนที่เล่นพนันจะมีผลกระทบทั้งการเรียน ก่อหนี้สิน ไปถึงขั้นก่ออาชญากรรม มีปัญหาสุขภาพ ความเครียด ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย และเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง นอกจากนี้ มีพฤติกรรมเสี่ยงขณะรับชม เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ทานอาหารฟาสฟู้ด ดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลม รวมถึงชวนเพื่อนเล่นการพนัน เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงให้ซื้อสินค้า หรือเรื่องเพศ เป็นต้น

ดย. ได้มีการลงนามความร่วมมือในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก 2018 ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวม 11 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าสู่วงจรการพนันฟุตบอลและการพนันออนไลน์ รวมทั้งเสริมสร้างความตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหาให้แก่สังคม ในส่วนของการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน มีการนำเสนอรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในการป้องกันปัญหาการพนันออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก 2018ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ซึ่งมีพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับเด็กในสถานศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันฟุตบอลในช่วงฟุตบอลโลก 2018 อีกทั้งมีคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อออนไลน์ และคณะทำงานประสานความร่วมมือในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก เป็นกลไกการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างภาคีเครือข่ายทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ การจัดทำศูนย์กลางข้อมูลและสื่อ เพื่อการใช้งานร่วมกัน จัดทำแผนการสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะในภาพรวม ติดตามและประเมินผลการทำงานเพื่อนำไปสู่การป้องกันปัญหาการพนันออนไลน์

สำหรับการรณรงค์เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในปี 2561 ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการ มีการจัดทำสื่อและข้อมูลความรู้เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย การให้คำปรึกษาเบื้องต้นแก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน ทั้งนี้ สามารถติดต่อมาที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 และบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดหรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานในระดับภูมิภาคในการกำหนดมาตรการและรณรงค์ป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันและการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรอื่น เช่น เครือข่ายครอบครัว ผู้นำท้องถิ่น สภาเด็กและเยาวชนในพื้นที่การสร้างเครือข่ายในชุมชน เพื่อเฝ้าระวังสอดส่องแจ้งเบาะแส เช่น สภาเด็กและเยาวชน สภานักเรียน และบุคลากรในท้องถิ่น การประสานเจ้าหน้าที่กฎหมายเข้าดำเนินคดี ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน โดยทำงานร่วมกับครอบครัว โรงเรียน ชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรมีบทบาทในการป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับกับการพนันฟุตบอลออนไลน์ อาทิ 1) ควรมีความรู้เท่าทันกับรูปแบบของการเล่นพนันที่เปลี่ยนไป การพนันออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายผ่านทางมือถือสมาร์ทโฟน 2) เพิ่มการสอดส่องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันของลูกในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก มีรายรับรายจ่ายที่ผิดปกติหรือไม่ 3) สอดส่องดูแลลูกในการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือการชมฟุตบอลไม่ให้ดึกเกินไป เพิ่มการสังเกตว่าลูกเข้าไปเว็บพนันหรือไม่ หรือมีการพูดคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ 4) ลูกมีการพูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือมีการติดต่อสื่อสารเข้ามาจากคนแปลกหน้า 5) มีข้อมูลช่องทางในการติดต่อขอคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือกรณีประสบปัญหา และ 6) ให้ความสนใจและใกล้ชิดบุตรหลาน เช่น การนั่งชมการแข่งขันฟุตบอลร่วมกันภายในบ้านหรือครอบครัว ไม่ปล่อยให้เด็กนั่งชมฟุตบอลคนเดียวหรือไปค้างคืนกับเพื่อน

เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ในด้านสุขภาพนั้น ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดความพิการ ทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต เป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้บริการสุขภาพมากกว่าประชากรกลุ่มอายุอื่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี โดยใช้หลัก 5 อ. ประกอบด้วย อาหาร อากาศ อารมณ์ อุจจาระ และออกกำลังกาย ทั้งนี้ ผส. โดยกองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเตรียมจัดงาน "ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0 : นวัตกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มเพื่อผู้สูงอายุ และสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ (Innovation Food and Beverage) ขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน 2561 เวลา 13.30 -15.00 น. ณ ห้องโถงกลางชั้น 1 และห้องประชุมชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.

สำหรับการจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้การดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในวัยสูงอายุ และเพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อผู้สูงอายุ และส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ รวมทั้งให้ผู้สูงอายุเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมอย่างแพร่หลายและทั่วถึง เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้ปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี ได้รับการดูแลในทุกที่ทุกโอกาส และอยู่อย่างมีความสุข ทั้งนี้ ภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ บูธนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุและโภชนาการ สินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ ขอเชิญผู้สูงอายุและประชาชนเข้าร่วมงาน ในวันและเวลาดังกล่าว