'อดุลย์' สั่งเร่งช่วยเหลือแรงงานไทย กลับจากภัยสงครามในลิเบีย

'อดุลย์' สั่งเร่งช่วยเหลือแรงงานไทย กลับจากภัยสงครามในลิเบีย

"รมว.แรงงาน" สั่งเร่งช่วยเหลือแรงงานไทย กลับจากภัยสงครามในลิเบีย ระบุ กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เผยสงเคราะห์เป็นเงินรายละ 15,000 บาท ย้ำพร้อมดูแล

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.แรงงาน) สั่งเร่งติดตามช่วยเหลือแรงงานไทยที่เคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบียและกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างเนื่องจากเกิดภัยสงคราม ให้ได้รับสิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองช่วยเหลือ

 

นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางานได้แจ้งให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดเร่งติดตามรายชื่อ ที่อยู่คนงานที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านค่าจ้างค้างจ่ายและสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากนายจ้างในต่างประเทศ

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันได้เร่งรัดให้บริษัทที่จัดส่งแรงงานไทยไปลิเบียตรวจสอบการคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้แก่คนงานพร้อมทั้งประสานนายจ้างที่ลิเบียให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายและสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานไทย

อธิบดีกรมการจัดหางาน  กล่าวย้ำว่า อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ยื่นคำร้องทุกข์ขอค่าบริการและค่าใช้จ่ายคืนจากบริษัทที่จัดส่ง ส่วนหนึ่งได้ข้อยุติเรื่องร้องทุกข์และได้รับการช่วยเหลือเรียบร้อยแล้ว บางส่วนยังไม่ได้คืน อยู่ระหว่างฟ้องร้องธนาคารผู้ค้ำประกันให้แก่บริษัทจัดหางานผู้จัดส่ง เพื่อหักหลักประกันคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

       

นายอนุรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางานจัดส่งจะต้องเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ สำหรับประเทศลิเบียจ่ายค่าสมาชิกฯ ในอัตรา 400 บาทต่อคน ซึ่งจ่ายเพียงครั้งเดียว แต่คุ้มครองตลอดระยะเวลาสัญญาจ้าง ซึ่งกรณีที่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยจากการประสบปัญหาจากภัยสงคราม จะได้รับการสงเคราะห์รายละ 15,000 บาท

 

โดยแรงงานทุกคนที่ได้ยื่นคำร้องได้รับเงินสงเคราะห์เรียบร้อยแล้ว สำหรับการติดตามค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างที่ประเทศลิเบียนั้น เรื่องยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศลิเบียยังไม่สงบ และยังไม่มีความคืบหน้าในการเปิดสถานทูตไทย

 ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในประเทศลิเบียมีความสงบแล้ว จะได้ประสานสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเพื่อดำเนินการต่อไป โดยแรงงานจะได้รับค่าจ้างที่ค้างจ่ายคืนตามสัดส่วนของระยะเวลาในการทำงาน อย่างไรก็ตาม หากแรงงานที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือยังไม่ได้ร้องทุกข์ สามารถยื่นคำร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด