ไทยพบชายต่างชาติ23 ปีต้องสงสัย 'โรคเมอร์ส'

ไทยพบชายต่างชาติ23 ปีต้องสงสัย 'โรคเมอร์ส'

ไทยพบชายชาวอัฟริกันต้องสงสัย "โรคเมอร์ส" เดินทางจากตะวันออกกลางเข้าไทย ผลแล็ปเบื้องต้นเป็นวัณโรคปอด ส่งตรวจเชื้อซ้ำยืนยันผลอีกครั้ง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11มิ.ย.2561 สถาบันบำราศนราดูรได้ไปรับตัวชายชาวอัฟริกัน อายุ 23 ปีที่อาศัยอยู่ในตะวันออกกลางมาจากโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการหอบ เหนื่อย ทางโรงพยาบาลสงสัยว่าชายรายดังกล่าวอาจป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรตเมอร์ส จึงส่งต่อมายังสถาบันบำราศฯ รับเข้ารักษาตัวในห้องแยกโรค และได้ร่วมกับสำนักระบาดวิทยา ทำการสอบสวนโรคแล้ว โดยผลจากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์(ห้องแล็ป)เบื้องต้นพบว่าเป็นโรควัณโรคปอด ซึ่งตรวจพบเชื้อจากเสมหะ ดังนั้น โดยรวมชายรายดังกล่าวเป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจระยะแพร่กระจายได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการส่งสารคัดหลั่งตรวจยืนยันเชื้อซ้ำในห้องแล็ปของสถาบันบำราศนราดูรและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย เพื่อความรอบคอบจะยังไม่มีการตัดข้อสงสัยโรคเมอร์สจนกว่าจะทราบผลการตรวจยืนยันซ้ำจากห้องแล็ป ทั้งนี้ ผู้ป่วยเดินทางมาจากทางตะวันออกกลางด้วยเครื่องบิน คร.จึงได้มีการประสานสายการบินและสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อติดตามกลุ่มเสี่ยงที่ร่วมเดินทางมากับผู้ป่วยในการเข้าสู่ระบบป้องกัน รวมถึง ติดตามบุคคลอื่นที่มีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยตลอดเส้นทางการเดินทางในประเทศไทยก่อนเข้ารับการรักษาด้วย

"ประเทศไทยเป็นเป้าหมายของผู้ป่วยที่ต้องสงสัยโรตเมอร์สเดินทางเข้ามารับการรักษามากขึ้น เพราะการแพทย์และสาธารณสึขของไทยดี ที่ผ่านมาเมื่อตรวจพบว่าเป็นเมอร์สสามารถรักษาผู้ป่วยหาย หากไปประเทศอื่นอาจเสียชีวิต เมื่อประเทศอื่นๆเจอผู้ป่วยต้องสงสัยจึงลักลอบเข้ามารักษาในประเทศไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ป่วยโรคดังกล่าวจำนวนหนึ่งก็มาเป็นภาระประเทศทั้งระดับบุคคลและการป้องกันสอบสวนโรค ติดตามกลุ่มเสี่ยงตลอดเส้นทางที่ผู้ป่วยเดินทาง"นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือต้องเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการคัดกรองผู้ป่วย ซึ่งต้องร่วมมือกันหลายส่วนทั้ง อากาศยาน ทางเรือ และทางบก เพราะนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ซึ่งโรคที่โหดร้ายสถาบันบำราศฯก็จะรับมาดูแลทั้งหมด แต่โดยหลักการตามกฎหมายอนามัยระหว่างประเทศ การดูแลป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือประเทศต้นทางต้องมีการตรวจควบคุมคัดกรองผู้ป่วยก่อนเพราะเป็นความรับผิดชอบของแต่ละประเทศที่ต้องดูแล ซึ่งที่ผ่านมาการรักษาผู้ป่วยต่งชาติที่เป็นโรคเมอร์ส สถาบันบำราศฯมักจะติดตามค่ารักษาไม่ได้ จึงต้องประสานสถานเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศเข้ามาดำเนินการ


"โรควัณโรคที่แพร่เชื้อคือวัณโรคปอดและระยะแพร่เชื้อคือเมื่อตรวจพบเชื้อในเสมหะ แต่ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะวัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อในประเทศไทยก็เจอผู้ป่วยไม่น้อย แต่ไม่ได้ติดต่อกันง่ายๆ"นพ.สุวรรณชัยกล่าว