รณรงค์ลดกินเนื้อสัตว์ และร่วมกินผักให้มากขึ้น ในวันงดเนื้อสัตว์โลก

รณรงค์ลดกินเนื้อสัตว์ และร่วมกินผักให้มากขึ้น ในวันงดเนื้อสัตว์โลก

เนื่องในวันงดเนื้อสัตว์โลก กรีนพีซในหลายประเทศได้จัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับภาคประชาชนเพื่อผลักดันนโยบายอาหารที่ยั่งยืน ในประเทศไทย กรีนพีซจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความเชื่อมโยงของการทำปศุสัตว์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และนำเสนอประโยชน์ที่จะได้จากการกินอาหารที่ทำจากพืชผักเป็นหลัก โดยจัดกิจกรรมแข่งทำอาหารจากพืชผักระหว่างตัวแทนนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 5 และ 6 จากโรงเรียนในภูเก็ตและพังงา

ทั่วโลก กรีนพีซรณรงค์ให้เมืองต่าง ๆ รวมถึงสถาบันภาครัฐ เช่น สถานศึกษา ร่วมลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชผักให้ได้สองมื้อต่อสัปดาห์ภายในปี 2563  เนื่องจากการทำปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคปศุสัตว์นั้นมากพอ ๆ กับก๊าซเรือนกระจกที่มาจากรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องบิน และเรือทั้งหมดทั่วโลกรวมกัน หากไม่เริ่มเปลี่ยนการกินอาหาร การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปศุสัตว์อาจส่งผลให้โลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสได้

"การผลิตเนื้อสัตว์ในเชิงอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล การลดกินเนื้อสัตว์ และกินอาหารจากพืชผักมากขึ้น จะไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วย กรีนพีซเรียกร้องให้สถาบันการศึกษามีนโยบายอาหารกลางวันที่ยั่งยืน มีผักปลอดภัยเป็นส่วนประกอบหลักของอาหาร ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพนักเรียน และต่อสิ่งแวดล้อม" นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว 

"เด็ก ๆ สมควรที่จะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และมีสารอาหารครบถ้วน เราหวังว่ากิจกรรมในวันนี้จะช่วยจุดประกายให้เด็ก ๆ มีทัศนคติที่ดีต่อการกินผัก เห็นถึงประโยชน์และหันมากินอาหารจากพืชผักมากขึ้น" เชฟป้อม ธนรักษ์ ชูโต กล่าว "อาหารไทยเป็นที่รู้จักดีทั่วโลกว่าใช้เครื่องปรุงที่มีเอกลักษณ์และใช้ผักหลากหลายชนิดที่อุดมด้วยสารอาหาร นั่นเป็นทางเลือกที่ดีที่โรงเรียนหรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำวัตถุดิบในท้องถิ่นที่ปลอดภัยมาประกอบอาหารให้กับเด็ก ๆ ได้"

เชฟป้อมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการแข่งขันทำอาหาร ร่วมกับเฮตตี กีเนน กัปตันเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ และวิลลี่ เฟอร์เรอร์ เชฟประจำเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

นอกจากกิจกรรมทำอาหารแล้ว ภายในงานยังมีเวที ​VEG Talk: Less Meat More Veggies โดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมาร่วมให้แนวคิดเกี่ยวกับระบบอาหาร ทั้งในประเด็นห่วงโซ่อาหาร ความล้มเหลวของระบบอาหารในปัจจุบัน และผู้ที่สนใจด้านสุขภาพอย่างมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 ที่มาสะท้อนความคิดเรื่องพฤติกรรมการกินเพื่อสุขภาพของเราและโลก เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงปัญหาและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเริ่มการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมจากการเลือกอาหารบนจานของพวกเขา

รายงาน "ลดเพื่อเพิ่ม: ลดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม เพิ่มสุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก" ระบุว่าภายในปี2593 การผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และนมเชิงอุตสาหกรรมทั่วโลกควรลดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ร้ายแรง การเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นการบริโภคเนื้อสัตว์ไปเป็นการบริโภคอาหารที่อุดมด้วยพืชผักมากขึ้นจะส่งผลดีต่อสุขภาพ การบริโภคเนื้อแดงที่มากเกินไปมีส่วนทำให้เกิดมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วนและเบาหวาน การลดทานเนื้อสัตว์จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงได้

กิจกรรมวันงดเนื้อสัตว์โลกจัดขึ้นระหว่างการเดินทางมารณรงค์ในประเทศไทยของเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ภายใต้โครงการ "Rainbow Warrior Ship Tour 2018 พลังงานหมุนเวียนเพื่อทุกคน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในสังคม รวมถึงทำงานร่วมกับชุมชน ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมภาคประชาสังคม องค์กร และหน่วยงานต่างๆ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ปลอดภัย ยั่งยืนและเป็นธรรม