พณ. ยกระดับเข้มกดดันเวียดนามเลิกกีดกันการนำเข้ารถ

พณ. ยกระดับเข้มกดดันเวียดนามเลิกกีดกันการนำเข้ารถ

“พาณิชย์” ยกระดับเข้มกดดันเวียดนามเลิกกีดกันการนำเข้ารถยนต์ เตรียมเสนอทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) เพื่อแก้ปัญหาการตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อม เผยแผนรับมือสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าได้หารือกรณีเวียดนามออกระเบียบบังคับใช้มาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ทุกรุ่นทุกรูปแบบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยกำหนดให้รถยนต์นำเข้าต้องตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยกับห้องทดสอบของรัฐบาล ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในประเทศ จึงทำให้ไม่สามารถรองรับการทดสอบรถยนต์ทั้งหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลให้การส่งรถยนต์ไปเวียดนามต้องใช้เวลานานเพิ่มขึ้นอีก 30 วัน ทางผู้ส่งออกรถยนต์จากไทยหลายรายจึงได้ชะลอการส่งออกไปเวียดนาม โดยในปี 2561 เพิ่งมีการส่งออกไปเพียงร้อยละ 10 ของเป้า 65,000 คัน ที่ตั้งไว้สำหรับปีนี้

ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะทำการกดดันเวียดนามให้มากยิ่งขึ้นและเข้มข้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยจะผลักดันให้มีการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) มาตรฐานยานยนต์ไทย-เวียดนาม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการขอเอกสารรับรองจากหน่วยงานรัฐ แก้ปัญหาการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานทั้งสองฝ่ายตรวจซ้ำในเรื่องเดียวกัน โดยยในส่วนของไทยจะมีกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดูแล และกำลังจะดูว่าหน่วยงานที่รับรองผิดชอบเวียดนามคือใคร จะได้คุยให้ถูกจุด เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งหากทำได้ ก็จะช่วยลดขั้นตอน และทำให้การส่งออกรถยนต์ไปเวียดนามเร็วขึ้น พร้อมทั้งทำหนังสือถึงเวียดนามแจ้งข้อกังวลเรื่องความล่าช้าที่เป็นอุปสรรค นอกจากนี้ยังจะใช้เวที เวทีการค้าระหว่างประเทศ ทั้ง JTC อาเซียน และ WTO เพื่อกดดันเวียดนามอย่างต่อเนื่องให้ยกเลิกมาตรการหรือผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว เพราะมาตรการของเวียดนามถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้กรมฯ จะเสนอแนวทางดังกล่าวในระดับนโยบายและดำเนินการต่อไป

สำหรับกรณีสหรัฐฯ ริเริ่มไต่สวนสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ ตามมาตรา 232 กฎหมาย Trade Expansion Act ปี 1962 โดยให้เหตุผลว่าสินค้านำเข้าคุกคามให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศนั้น คาดว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯต้องใช้เวลาในการไต่สวน 270 วันหรือ 9 เดือน จากนั้นก็เสนอให้ประธานาธิบดีสหรัฐพิจารณาภายใน 90 วันก่อน ตัดสินใจเรื่องการขึ้นภาษียานยนต์และชิ้นส่วนนำเข้า ซึ่งการใช้มาตรการของสหรัฐฯ น่าจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับการใช้มาตรการ 232 ในสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมที่ภาครัฐของไทยอยู่ระหว่างหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อขอยกเว้นการขึ้นภาษีรายประเทศ

ขณะที่ภาคเอกชนของไทยจะต้องหารือกับคู่ค้า หรือผู้นำเข้าสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ขอยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นรายสินค้า อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการไม่ประมาท ระหว่างนี้จะมีการเตรียมการด้านข้อมูลต่างๆ เพื่อเอาไว้ใช้ชี้แจงกับสหรัฐฯ ว่าการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยไม่ได้กระทบต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และกระทบความมั่นคงของสหรัฐฯ เพราะไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ในลำดับที่ 18 มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลก 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ