อุทธรณ์พิพากษาแก้ปรับ 6 พัน 'อภิชาต' ชูป้ายต้าน คสช.ปี 57

อุทธรณ์พิพากษาแก้ปรับ 6 พัน 'อภิชาต' ชูป้ายต้าน คสช.ปี 57

ศาลอุทธรณ์ พิพากษา "อภิชาต" นักวิชาการด้านกฎหมาย ชูป้ายต้าน คสช. ผิดฝ่าฝืนชุมนุมการเมืองตามประกาศ 7/2557 แต่ชุมนุมสงบโทษไม่หนักถึงจำคุก แค่ปรับ 6 พัน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 พ.ค.61 ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถ.พระราม 4 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งที่ 4 คดีหมายเลขดำ อ.363/2558 พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์" นักวิชาการด้านกฎหมาย เป็นจำเลย ในความผิดฐาน ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยฝ่าฝืนประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค.57 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก และกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มาตรา 8 และ 11 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 , 216 , 368 วรรคแรก

โดยคดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง วันที่ 28 เม.ย.58 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ภายหลังการการยึดอำนาจปกครองจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ววันที่ 22 พ.ค.57 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้ง คสช. และประกาศ คสช.เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 23 พ.ค.57 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีก 500 คนที่หลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้มั่วสุมชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารของ คสช. โดยจำเลยกับพวกชูป้ายว่า “ ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน ” บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และด่าทอ โห่ร้อง เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย บริเวณหอศิลปฯ และยังปลุกระดมกลุ่มผู้ชุมนุม ให้ร่วมชุมนุมากขึ้นเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เหตุเกิดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถ.พระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กทม.

โดยครั้งแรกศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ก.พ.59 ให้ยกฟ้องนายอภิชาต เนื่องจากยังฟังไม่ได้ว่ากองบังคับการปราบปราม มีอำนาจหน้าที่การสอบสวนความผิดอาญาในท้องที่เขตปทุมวันในคดีนี้ และยังฟังไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวน กก.1 ป. มีอำนาจหน้าที่สอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่า มีการสอบสวนความผิดตามข้อกล่าวหาโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่น ต่อมาอัยการโจทก์ได้ยืนอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายเรื่องขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องอำนาจการสอบสวน กระทั่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วเห็นว่าพนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวน จึงให้ย้อนสำนวนส่งกลับมาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ ซึ่งศาลแขวงปทุมวันที่เป็นศาลชั้นต้น ก็ได้พิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่

โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.59 โดยศาลเห็นว่าการกระทำของนายอภิชาตฝ่าฝืนประกาศ คสช.เรื่องการห้ามชุมนุมและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 จึงพิพากษาให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท แต่ศาลเห็นว่านายอภิชาตไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อนจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี กระทั่งจำเลย ได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดีอีกว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ส่วนอัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คดีแต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชุมนุมทางการเมือง ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 แต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ออกมาภายหลังเป็นคุณแก่จำเลย ทั้งนี้จำเลยเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ

ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก "ศาลอุทธรณ์" เห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป จึงพิพากษาแก้ไม่ลงโทษจำคุก และยกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 นอกนั้นให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา คือปรับ 6,000 บาท