บนเส้นทางอำนาจ: 5 นักโทษสู่ผู้นำ

บนเส้นทางอำนาจ: 5 นักโทษสู่ผู้นำ

อันวาร์ อิบราฮิม ได้รับอิสรภาพแล้วในวันนี้ เปิดทางก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในอนาคต เส้นทางของเขาคลายคลึงกับผู้นำอีกหลายคนในศตวรรษที่ผ่านมา

1. เนลสัน แมนเดลา

“ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้าที่จะหยุดยั้งประชาชนผู้ถูกกดขี่ ให้มุ่งมั่นสู่เสรีภาพของตนได้” เนลสัน แมนเดลาเคยกล่าวไว้เมื่อปี 2504 หนึ่งปีก่อนเป็นการต่อสู้ติดอาวุธเพื่อสิทธิคนผิวสีในแอฟริกาใต้

เขาถูกจำคุกในเรือนจำเกาะโรบเบินใช้ชีวิตหลังลูกกรงนาน 27 ปี จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านการเหยียดผิว และการรณรงค์ระหว่างประเทศให้โดดเดี่ยวรัฐบาลผิวขาวเสียงข้างน้อยแห่งพริทอเรีย

แมนเดลาเป็นอิสระในปี 2533 และได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีก 4 ปีต่อมาในวัย 75 ปี ในการเลือกตั้งที่มีคนผิวสีลงแข่งด้วยครั้งแรกของแอฟริกาใต้

2. อองซาน ซูจี

ลูกสาวผู้นำกู้ชาตินายพลอองซาน ผู้นำเมียนมาโดยพฤตินัย ที่เลือกใช้ชีวิตวัยสาวแบบเงียบๆ ในเมืองออกซ์ฟอร์ด ขณะที่ตำนานของบิดาไม่เคยจางหาย

ครั้นเมืื่อต้องกลับสู่ย่างกุ้งเพื่อเยี่ยมมารดาผู้เจ็บป่วยในปี 2531 ซูจีถูกผลักให้เป็นดาวเด่นในการลุกฮือของประชาชนต้านระบอบทหาร แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกกักบริเวณในบ้านนานถึง 15 ปี

การเลือกตั้งปี 2558 พรรคการเมืองของซูจีคว้าชัยชนะถล่มทลายหนุนเธอขึ้นสู่อำนาจ แต่ภาพลักษณ์นักสู้เพื่อประชาธิปไตยกลับมัวหมอง เมื่อกองทัพเมียนมาปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรง อย่างที่สหประชาชาติเรียกว่า “การกวาดล้างเผ่าพันธุ์”

3. ชวาหระลาล เนห์รู

ชวาหระลาล เนห์รู ติดคุกครั้งแรกสมัยอังกฤษปกครองอินเดีย ปี 2464 เพราะเรียกร้องคว่ำบาตรไม่ให้เจ้าชายแห่งเวลส์เสด็จเยือนอินเดีย เขากล่าวถึงการติดคุกครั้งนี้ว่า “เป็นความยินดีอย่างที่สุด เพื่อให้เป็นตัวอย่างของการต่อต้านการปกครองอาณานิคม”

เนห์รูใช้ชีวิตในเรือนจำเกือบ 10 ปี ด้วยความผิดหลายข้อหา ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์อารยะขัดขืนของพันธมิตรทางการเมืองอย่างมหาตมะ คานธี ซึ่งติดคุกหลายปีเช่นเดียวกัน

เมื่ออินเดียได้รับเอกราช เนห์รูปได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศในปี 2490 ดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเสียชีวิตในเกือบ 17 ปีต่อมา และตระกูลเนห์รู-คานธีก็มีบทบาทในการเมืองอินเดียอีกหลายสิบปีนับจากนั้น

4. วาคลาฟ ฮาเวล

นักเขียนบทละครหัวแข็งที่รู้จักกันดีว่าใช้ชีวิตวัยหนุ่มอย่างเสเพล แต่การลุกฮือของประชาชนเช็กโกสโลวาเกียที่ล้มเหลวเมื่อปี 2511 ดึงให้เขาเข้ามายุ่งกับการเมืองและถอนตัวไม่ขึ้นตั้งแต่นั้น

ฮาเวลถูกโรงละครขึ้นบัญชีดำและถูกจำคุกอยู่หลายครั้ง ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในการปฏิวัติกำมะหยี่ โค่นระบอบคอมมิวนิสต์ลงได้

ด้วยความรักในดนตรีตะวันตก ผลงานชิ้นแรกๆ เมื่อเป็นผู้นำประเทศ ฮาเวลเชิญแฟรงค์ แซปปาและโรลลิงสโตนส์ ให้มาเปิดการแสดงที่กรุงปราก ศิลปินทั้งสองเคยถูกรัฐบาลชุดก่อนหน้าห้ามเข้าประเทศ

5. มิเชล บาเชเลต์

ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี ถูกชักนำเข้าสู่การเมืองโดยบิดา อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้ถูกจำคุกหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อปี 2516 และถูกซ้อมทรมานจนเสียชีวิต

บาเชเลต์เองซึ่งลักลอบเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ถูกจับกุมและซ้อมทรมานในเวลาต่อมาเช่นกัน เธอเคยลี้ภัยในออสเตรเลียและเยอรมนีตะวันออก ก่อนกับมารณรงค์ฟื้นฟูประชาธิปไตยในบ้านเกิด จนได้รับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2549 ทำหน้าที่ประธานาธิบดี 2 สมัยไม่ติดต่อกัน

ประธานาธิบดีหญิงเพิ่งพ้นจากตำแหน่งในปีนี้หลังจากผ่อนปรนกฎหมายทำแท้งและยอมรับความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันมากขึ้น ทั้งสองประเด็นเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมากในประเทศอนุรักษนิยมอย่างชิลี