'ไอโอที’ไขปริศนาผึ้งแตกรัง

'ไอโอที’ไขปริศนาผึ้งแตกรัง

เทคโนโลยีไอโอที (IoT) วิเคราะห์แยกความแตกต่างและแปลเสียงผึ้งในรังให้เป็นสัญญาณแจ้งขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรผู้เลี้ยง ทางเลือกใหม่ช่วยรับมือปัญหาผึ้งหนีรังหรือตายยกรังจากแมลงศัตรูโจมตี

นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอที (IoT) วิเคราะห์แยกความแตกต่างและแปลเสียงผึ้งในรังให้เป็นสัญญาณแจ้งขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรผู้เลี้ยง ทางเลือกใหม่ช่วยรับมือปัญหาผึ้งหนีรังหรือตายยกรังจากแมลงศัตรูโจมตี ขอเวลาประมาณ 1 ปีพัฒนาระบบให้เสถียรและสร้างฐานข้อมูลเสียงให้เสร็จก่อนให้บริการเชิงพาณิชย์

ปัญหาผึ้งหนีรัง ผึ้งแบ่งรัง ผึ้งตายยกรัง เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั่วโลก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารในอนาคต จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นเสียงความผิดปกติในรังผึ้ง

“ผึ้งหาย” ไม่ใช่เรื่องเล็ก

บุญฤทธิ์ บุญมาเรือง และทีม BeeConnex ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำความรู้ที่เรียนมามาสร้างแพลตฟอร์มดูแลผึ้งด้วยการติดตั้งเซนเซอร์ในกล่องเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้นและอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่เป็นภาพและเสียงไว้บนคลาวด์ เพื่อทำการวิเคราะห์หาความผิดปกติของเสียงผึ้งในรัง จากนั้นจะแสดงข้อมูลผ่านทางเทคโนโลยีออนไลน์ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งสามารถเข้าพื้นที่แก้ไขปัญหาได้ทันที

“ที่มาเริ่มจากโปรเจคก่อนจบการศึกษา ทางอาจารย์ที่ปรึกษานำเสนอ 5-6 หัวข้อให้พวกเราเลือกทำตามความสนใจ หัวข้อนี้ก็เกี่ยวกับเทคโนโลยี IoT ที่ทีมงานสนใจในการวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งแต่ยังไม่มีข้อมูลไปจนถึงการวิเคราะห์เก็บข้อมูล เป็นการทำงานทั้งระบบ และจากการดูวารสารทางวิชาการ พบว่า ผึ้งหายจากรังเป็นปัญหาที่ผู้เลี้ยงทั่วโลกพบเหมือนกัน ส่งผลต่อเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจ จึงสนใจนำวิชาความรู้ที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหา”

เมื่อศึกษาข้อเท็จจริงทางวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง อีกทั้งเกษตรกรบางกลุ่มก็มาหาถึงมหาวิทยาลัยเพื่อเล่าถึงปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่ และต้องการให้มหาวิทยาลัยหาวิธีแก้ปัญหา จึงทำให้ได้ข้อมูลภาคสนาม รวมกับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกีฏวิทยาว่า ปัญหาเป็นอย่างไร และทุกวันนี้จัดการกับปัญหาอย่างไร

จากนั้นนำข้อมูลจากภาคสนามและวิชาการมาดีไซน์ด้วยเทคโนโลยีว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร ปัญหาหลักที่ต้องการแก้ไขคือ ต้องการช่วยเกษตรกรดูแลผึ้งอย่างเต็มที่เพื่อให้กำลังการผลิตไม่ลด จากปัญหาที่เกิดจาก 1. การโจมตีจากศัตรูธรรมชาติ เช่น ต่อ แตนและมด 2.การที่ผึ้งหนีรังหรือแบ่งรังเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการหาอาหารหรือจำนวนประชากรในรังแน่นเกินไป ทำให้กำลังการผลิตลดลง จึงต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลเสียงว่า เสียงบ่งบอกอะไร จากนั้นก็แจ้งเตือนเกษตรกรให้จัดการแก้ไขปัญหาได้ทันเวลาโดยไม่ต้องลาดตระเวนเฝ้ารังผึ้งตลอดทั้งวัน

“เราจับสัญญาณความผิดปกติโดยการวิเคราะห์เสียงกระพือปีกของผึ้งที่แตกต่างกัน เช่น เสียงขู่สิ่งที่มารบกวน เสียงไม่พอใจจากความหนาแน่นในรัง ทันที่จับความผิดปกติได้ เครื่องจะแจ้งเตือนไปยังสมาร์ทดีไวซ์ทันที”

นวัตกรรมกู้วิกฤติน้ำผึ้ง

ปัจจุบันมีฟาร์มผึ้งหลายแห่งติดต่อขอรับบริการ แต่ทีมงานยังไม่พร้อมในเชิงพาณิชย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกับรังผึ้งในศูนย์วิจัยพืชพื้นเมือง จ.ราชบุรี ต้องใช้เวลาสร้างฐานข้อมูลคลื่นเสียงมีทั้งจากสถานการณ์จริงและสถานการณ์จำลอง คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีทำต้นแบบให้เสร็จ รวมทั้งติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าป้อนระบบ

เบื้องต้นกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเกษตรกรชาวสวนผลไม้ เช่น สวนลำไย ที่นิยมเลี้ยงผึ้งพันธุ์จากต่างประเทศเพราะหาอาหารเก่ง ให้ผลผลิตปริมาณน้ำผึ้งมาก แต่ไม่มีความสามารถในการป้องกันศัตรู โอกาสตายง่าย

นอกจากนี้ยังมีปัญหาผึ้งตายยกรังหรือบางครั้งมีปัญหาเรื่องตัวนางพญาผึ้งไข่น้อยทำให้ประชากรในรังลดลง ทำให้ผลผลิตลดลง รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวน ถือเป็นปัญหาระดับโลก เพราะปัญหาผึ้งฝั่งยุโรปจะรุนแรงกว่าในประเทศไทย เพราะเป็นผึ้งพันธุ์ หากสามารถพัฒนาอุปกรณ์ไปช่วยแก้ปัญหาได้ จะมีตลาดรองรับใหญ่มากโซนยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกาแต่ต้องมีปรับบางอย่างให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและพัฒนาคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรมากขึ้น

ผลงานระบบรังผึ้งอัจฉริยะได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันอิมเมจิ้นคัพประเทศไทย และรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2561 เป็นตัวแทนภูมิภาคไปแข่งขันชิงถ้วยอิมเมจิ้นคัพระดับโลก ณ เมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา