ลงทุน 4 แสนล้าน ดันไทยศูนย์กลางธุรกิจอาเซียน

ลงทุน 4 แสนล้าน ดันไทยศูนย์กลางธุรกิจอาเซียน

"คมนาคม" เปิดแผนระบบราง "Bangsue Junction" ดันไทยศูนย์กลางธุรกิจอาเซียน เม็ดเงินลงทุนรวม 4 แสนล้านบาท ออกทีโออาร์ภายในปีนี้ เฟสแรกนำร่องเปิดใช้ปี 63 คาดมีผู้โดยสารผ่านสถานีวันละ 1 แสนคน

การคมนาคมและระบบขนส่ง (logistics) มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่เพียงช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ยังยกระดับประเทศไปสู่เวทีโลก สถานีกลางบางซื่อ โครงการสำคัญ หัวใจของระบบรางกำลังก้าวสู่ฮับของอาเซียน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเล็งเห็นความสำคัญจัดสัมมนา BANGKOK's New Center สถานีกลางบางซื่อ : พลิกโฉมมหานครกรุงเทพ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ (ภาพซ้ายมือ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ณ รร.อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ พร้อมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคับคั่ง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เปิดเผยถึงแผน “Bangsue Junction ศูนย์กลางธุรกิจอาเซียน” ว่า จากปัจจุบันกรุงเทพฯมีถนนไม่เพียงพอรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยมีความต้องการเดินทางเพิ่มจาก 19.8 ล้านเที่ยว/วันในปี 2558 เพิ่มเป็น 23.9 ล้านเที่ยว/วันในปี 2564 ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 9.8 ล้านคัน ในปี 2560 ในขณะที่ถนนมีเพียง 7% ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้มีความเร็วของรถยนต์เฉลี่ยเพียง 14 กม./ชม. รัฐบาลจึงได้มีวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ เมืองแห่งการเคลื่อนไหว”

ด้วยระบบราง ที่เน้นให้ประชาชนเข้าถึงการบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ง และปลอดภัย โดยในปัจจุบันมีโครงข่ายรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง รวมระยะทาง 110 กม. แต่ในอนาคตปี 2575 กรุงเทพฯจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กม. จะพลิกโฉมกรุงเทพฯเป็นมหานครระบบราง มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยในปัจจุบัน เซี่ยงไฮ้มีระยะทาง 588 กม. โซล 508 กม. กรุงเทพฯในปี 2575 464 กม. ลอนดอน 402 กม. นิวยอร์ก394 กม. และโตเกียว 203 กม. และจะเพิ่มสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้าจาก 5% เป็น 30%

การที่จะไปให้ถึงจุดหมายดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีศูนย์กลางการเดินทางแห่งใหม่ แทนหัวลำโพงที่เป็นศูนย์กลางระบบรางของกรุงเทพฯเดิม โดยกระทรวงคมนาคมจะพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ของประเทศ ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จในช่วงปลายปี 2562 เนื่องจากมีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่ง 4 สาย ได้แก่ สถานีขนส่งหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งหากพัฒนาโครงการนี้แล้วเสร็จ คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5 เท่า ภายใน 10 ปี โดยมจาก 136,000 คน/วัน ในปี 2565 เพิ่มเป็น 359,000 คน/วัน ในปี 2570 และเพิ่มเป็น 624,000 คน/วันในปี 2575

“ในอนาคตปี 2575 สถานีกลางบางซื้อจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางกับพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการเชื่อมโยงจะสมบูรณ์ใน 3 ลักษณะ คือ 1. เชื่อมโยงระบบการเดินทางภายใน กทม. 2. เชื่อมโยงกับภาคต่างๆ และ3. เชื่อมโยงระหว่างประเทศ ได้แก่ ลาว จีน และมาเลเซีย”

สถานีกลางบางซื่อ ตั้งภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธินจะพัฒนาสถานีควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี โดยหน่วยงานภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนทางราง ภายใต้เม็ดเงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท ส่วนภาคเอกชนจะพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างต้นทุนที่ภาครัฐลงทุนกับผลกำไรจากการพัฒนาที่ดิน ตามที่รัฐชี้นำอย่างเหมาะสม และมีความสมดุลระหว่างแหล่งงานกับที่อยู่อาศัย โดยมีระบบรางเป็นศูนย์กลาง ในรัศมีชั้นในพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชย์ยกรรม และพื้นที่ชั้นนอกเป็นที่อยู่อาศัย มีพื้นที่รวม 2,325 ไร่

สำหรับกรอบการพัฒนาพื้นที่ศักยภาพรอบสถานีบางซื่อ จะแบ่งเป็น โซน A พื้นที่รวม 35 ไร่ (เฟสแรก แล้วเสร็จปี 2563) มีศักยภาพสูงในเชิงที่ตั้ง ซึ่งอยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ยกรรมที่มีความเยวเนื่องกับระบบขนส่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ พีพีพี พื้นที่โซน B ต่อเนื่องถึงขอบโซน D ในเขตรถไฟฟ้าสายสีแดง มีศักยภาพสูงในเชิงที่ตั้ง เนื่องจากอยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ เป็นพื้นที่แปลงใหญ่ จึงมีศักยภาพในการพัฒนาผลสมผสานหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นพื้นที่บริเวณนี้จึงมีความเหมาะสมในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางของย่านตามแนวคิด Transit Oriented Development (TOD) โซน D พื้นที่รวม 83 ไร่ มีศักยภาพสูงในการพัฒนา TOD โดยอาศัยความได้เปรียบจากที่ตั้งที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีเขียว อยู่ใกล้กับย่านพาณิชยกรรม โดยเฉพาะบริเวณตลาดนัดจตุจักร สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสต่อยอดการพัฒนาผสมผสานที่เกี่ยวเนื่องมายังพื้นที่โซน D ได้ง่าย พื้นที่ต่อเนื่องทางด้านเหนือโซน D มีศักยภาพในการพัฒนาปานกลาง เนื่องจากอยู่ถัดออกมาจากรัศมีการเดินเท้า 500 เมตร จากสถานีกลางบางซื่อ จึงมีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัย พื้นที่พัฒนาเดิมต่อเนื่องด้านใต้ของโซน D ได้แก่ บริเวณตลาดนัดจตุจักร ตลาด อตก. และบริเวณโดยรอบ มีศักยภาพในการพัฒนาสูง แต่ยังคงเอกลักษณ์และรูปแบบย่านพาณิชยกรรมเดิมไว้

พื้นที่โซน C สำหรับที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ การประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการ(ไมซ์) มีศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อกับสนามบิน และพื้นที่ชั้นในของ กทม. ได้อย่างสะดวก พื้นที่ย่านตึกแดง มีพื้นที่รวม 119 ไร่ มีศักยภาพสูงในเชิงที่ตั้ง เนื่องจากอยู่ในระยะเดินเท้า 500 เมตร จากสถานีกลางบางซื่อ ดึงดูดให้เกิดการพัฒนารูปแบบผสมผสานพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย แบ่งโซนการพัฒนาเป็น 2 พื้นที่ย่อย ได้แก่ พื้นที่โซน E เป็นพื้นที่สำนักงานของหน่วยราชการ โดยออกแบบให้มีตึกระฟ้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ พื้นที่โซน F เป็นย่านศูนย์การค้า ซึ่งมีความหลากหลาย ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร และแหล่งบันเทิงต่างๆ

พื้นที่ย่าน กม.11 พื้นที่รวม 360 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ จึงมีศักยภาพในการพัฒนา TOD ในระดับที่แตกต่างกันในแต่ละบริเวณ โดยด้านตะวันตกและตะวันออก ซึ่งอยู่ในระยะเดินทาง 500 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียวส่วนต่อขยายมีศักยภาพในการพัฒนาสูง เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียวส่วนต่อขยายเปิดให้บริการในอนาคต พื้นที่ตอนกลาง มีศักยภาพปานกลางในการพัฒนา TOD เนื่องจากไม่อยู่ในระยะเดินเท้าจากสภานีระบบราง จำเป็นต้องพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองก่อน เพื่อสร้างการเชื่อมต่อกับสถานีและกิจกรรมหลักโดยรอบ

สำหรับการพัฒนา “Bang Sue Junction ศูนย์กลางธุรกิจอาเซียน” โดยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อจะดำเนินการเป็น 3 ระยะ ใช้เวลา15 ปี โดยพิจารณาถึงความพร้อมในพื้นที่ และความคุ้มค่าของการลงทุน โดยในระยะที่ 1 (ภายในปี 2567) เป็นช่วงที่สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการ จะเป็นช่วงการพัฒนาย่านการค้าและสำนักงานเป็นหลัก ระยะที่ 2 (ภายในปี 2572) เน้นการพัฒนาพื้นที่สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ (ไมซ์) และย่านศูนย์การค้า และระยะที่ 3 (ภายในปี 2577) พัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมและพื้นที่อยู่อาศัยที่เหลือ
“ทางที่ปรึกษาจากญี่ปุ่นมองว่าโครงการนี้จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งออฟฟิตในประเทศไทย จำเป็นจะต้องมีแลนด์มาร์ค เพื่อเป็นจุดขายของสถานที่ ซึ่งอาจจะเป็นตึกที่สูงที่สุดในอาเซียน ที่เป็นอาคารธุรกิจ ซึ่งจะต้องระดมความคิดเพื่อสร้างให้เป็นแลนด์มาร์คที่น่าสนใจต่อไป”

ในส่วนของระบบสาธารณูปโภคทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทำการศึกษาพัฒนาให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด และจะเปิดให้เอกชนเข้ามาสร้างระบบสาธารณ์ปโภค และระบบโทรคมนาคมต่างๆ สร้างรายได้ให้กับ ร.ฟ.ท. ต่อไป

เงินลงทุนโครงการ 4 แสนล้าน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า โครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางบางซื่อ จะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนอาคารสถานที่ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า ระบบราง ระบบโทรคมนาคมต่างๆ อีกประมาณ 2-3 แสนล้านบาท โดยในระยะแรก สถานีกลางบางซื้อ และบางส่วนของโซน A จะสร้างเสร็จในปลายปี 2562 พร้อมๆกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจะออก ทีโออาร์ ได้ภายในปีนี้ มั่นใจว่าเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 2 ปี จะสามารถก่อสร้างได้ทัน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารผ่านสถานีนี้วันละ 1 แสนคน
ส่วนระบบขนส่งรองที่จะเชื่อมต่อบริเวณต่างๆในพื้นที่ อาจจะเป็นระบบ บีอาร์ที หรือโมโนเรล ก็ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา รวมทั้งมีแผนที่จะตั้งบริษัทลูก เพื่อเข้ามาดูแลโครงการสถานีกลางบางซื่อโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน