ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางบังคับคดี 'บิทคอยน์'

ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางบังคับคดี 'บิทคอยน์'

บังคับคดีตั้งคณะทำงานฯ ศึกษาแนวทางยึดอายัดเงินดิจิทัล หลังพบปชช.ซื้อขาย-ระดมทุนต่อเนื่อง ระบุบิทคอยน์ยังไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซ้ำยังเป็นทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยความคืบหน้าการใช้กฎหมายบังคับคดีสกุลเงินดิจิทัลว่า กรมบังคับคดีได้พัฒนาระบบการทำงานโดยนำระบบเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเพื่อพัฒนา Thailand 4.0 ในเรื่องสกุลเงินดิจิทัล

 

กรมบังคับคดี ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาวิจัยและกำหนดโครงการศึกษาวิจัยแล้วในหลายประเด็น  โดยต้องพิจารณาว่า สกุลเงินดิจิทัลถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับเงินตราหรือไม่ เนื่องจากบิทคอยน์ ( Bitcoin Ethereum Ripple Dash ) ยังเป็นเพียงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์  ไม่มีรูปร่างและไม่สามารถจับต้องได้ สำหรับประเทศไทย สกุลเงินดิจิทัลหรือหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นเงินตรา

 

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวอีกว่า  ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนมีการซื้อขายและลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล และมีการระดมทุน (ICO) สกุลเงินดิจิทัล cryptocurrency ด้วย ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีอากรด้วย  

อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดิจิทัลยังเป็นเพียงหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นการจะกำหนดให้จำเลย (ลูกหนี้) ส่งมอบรหัสผ่าน (password) หรือกุญแจของบัญชี (E-Wallet) หรือส่งมอบสิ่งใด  ยังมีข้อถกเถียงว่าหากมีการขายทอดตลาดเงินดิจิทัลจะประเมินมูลค่าอย่างไร  เนื่องจากสภาพมูลค่าของเงินดิจิทัลมีความผันแปรสูงมาก และสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา

หากโจทก์ตามคำพิพากษาแจ้งว่า จากการสืบทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้)  พบว่าจำเลย (ลูกหนี้) มีสินทรัพย์ดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัล ในส่วนของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการบังคับคดีอย่างไร จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้กรมบังคับคดีต้องแลกเปลี่ยนความรู้และทำความเข้าใจและประสบการณ์ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่อไป