ก.วิทย์ขอเวลา 3 ปีส่ง วทน.แก้จนบุรีรัมย์

ก.วิทย์ขอเวลา 3 ปีส่ง วทน.แก้จนบุรีรัมย์

ผ้าไหมทอพื้นเมืองจากชุมชนบ้านสนวนนอก จ.บุรีรัมย์ เป็น 1 ในผลิตภัณฑ์เป้าหมายในโครงการ “วิทย์แก้จน” ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำเทคโนโลยีและเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตและคุณภาพ

ผ้าไหมทอพื้นเมืองจากชุมชนบ้านสนวนนอก จ.บุรีรัมย์ เป็น 1 ในผลิตภัณฑ์เป้าหมายในโครงการ “วิทย์แก้จน” ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นำเทคโนโลยีและเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตและคุณภาพ แถมยังต่อยอดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าได้สินค้าของแท้จากแหล่งที่ผลิตโดยตรงอันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม

กลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองบ้านสนวนนอก หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมและวิถีชีวิตพอเพียง อ.ห้วยราช มีชื่อเสียงในเรื่องวิธีการทอผ้าไหมแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “ผ้าไหมหางกระรอก” กระบวนการผลิตผ้าทอของกลุ่มเริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม ตีเกลียว รวมถึงการทอออกมาเป็นผ้าทอที่เป็นผืนสวยงาม แต่มีปัญหาด้านต้นทุนการผลิตและคุณภาพยังไม่คงที่


นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวในระหว่างการลงพื้นที่เพื่อประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร พร้อมเปิดงาน “มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค” จ.บุรีรัมย์ว่า นโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างสังคมแห่งโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ในส่วนของ วท.ก็พร้อมทำงานด้วยจุดแข็ง 3 ด้านคือ เทคโนโลยีพร้อมใช้, กระบวนการพร้อมปฏิบัติและหลักคิดพร้อมดำเนินการ โดยบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่ 2 รองจากน่านในโครงการนำร่อง “วิทย์แก้จน” 10 จังหวัดพื้นที่ยากจนสุดของประเทศ ประกอบด้วย น่าน แม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ นราธิวาสและปัตตานี สำหรับบุรีรัมย์จะเน้นไปที่ 3 ด้านหลักคือ การแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นผลผลิตในพื้นที่ให้มีตลาดที่ใหญ่ขึ้น มูลค่าสูงขึ้น, สินค้าโอทอป ที่มุ่งเน้นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของแต่ละชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชน ที่จะเชื่อมโยงเรื่องของเทคโนโลยี เช่น แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือและ IoT เข้ามาเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงและกระตุ้นความสนใจได้มากขึ้น


การพัฒนาจะเน้นการใช้ตลาดเป็นตัวชี้นำ แทนที่จะเน้นกลุ่มที่มีตลาดเข้มแข็งก็มุ่งไปยังผู้ประกอบการกลุ่มล่างที่ยังเข้าไม่ถึงวิทยาศาสตร์แต่มีโอกาสสูงที่จะพัฒนา ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะกระตุ้นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลายเป็นนวัตกรรมชุมชน ผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร ที่จะอยู่ภายใต้ส่วนของ “วิทย์สร้างรายได้” ในโครงการขับเคลื่อนนโยบายวิทย์แก้จนและเสริมแกร่งภูมิภาค เพื่อยกระดับเกษตรกร 4 หมื่นรายและกลุ่มเกษตรกร 2,000 กลุ่ม ให้ก้าวเข้าสู่สมาร์ทฟาร์มเมอร์หรือเกษตรอัจฉริยะ กับ โครงการยกระดับโอทอป ใน 10 จังหวัดยากจน 2,000 กลุ่ม รวมถึงส่วนของ “วิทย์สร้างพื้นฐาน” ผ่านโครงการชุมชนวิทย์ จัดตั้งหมู่บ้านวิทยาศาสตร์พระราชา 89 แห่งทั่วประเทศพร้อมกับสร้างอาสาสมัครวิทยาศาสตร์ 1 หมื่นคน นักวิทยาศาสตร์ชุมชน 1.5 แสนคน ที่อาจจะมีการใช้นักเรียนทุน วท. เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับชุมชนและสามารถแก้จนได้ตรงจุด


“เราคาดหวังที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 1-3 ปี จากนั้นก็จะขยายไปยังจังหวัดพื้นที่ยากจนอื่นๆ ของประเทศต่อไป” นายสุวิทย์ กล่าว