ส่องขุมพลังแบรนด์ สแกนจริตคนไทย

ส่องขุมพลังแบรนด์ สแกนจริตคนไทย

ถอดรหัสผู้บริโภค ยุคพร้อมตีตัวออกห่างแบรนด์ โผหาแบรนด์ใหม่ที่ให้คุณค่ากว่า นี่คือความยาก-ซับซ้อน ที่แบรนด์ต้องจับจริตเชิงลึกความคาดหวังในใจลูกค้า วาดลายแทงพาแบรนด์ เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางชีวิตพวกเขา

พฤติกรรมมนุษย์ยุคดิจิทัลเริ่มเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต การเสพสื่อ หรือการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า บ่งบอกให้รู้ว่า การทำการตลาดด้วยกลยุทธ์การสื่อสารแบบเดิมๆ หวังจะได้ผลลัพธ์ความสำเร็จอย่างเดิม ไม่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว เพราะลูกค้าในยุคนี้มุ่งหวังที่จะ“ควบคุม”ทุกสิ่งให้อยู่ในมือของพวกเขา จึงเลือกเสพสื่อ เฉพาะสิ่งที่เข้าใจและตรงกับทัศนคติของเขาเท่านั้น ด้วยความเบื่อง่าย หน่ายเร็ว จึงไม่ยินยอมอดทนฟังอะไรที่ไม่อยากรู้ หากเนื้อหานั้นไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณค่าให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น

การไล่นิ้วหนีหน้าจอ เมื่อเจอข้อความไม่ถูกใจ จดจำอะไรเกี่ยวกับแบรนด์ไม่ได้เลย จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์ยุคนี้

โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ  คนไทยคนแรกขึ้นดำรงตำแหน่งประธานอำนวยการ วายแอนด์อาร์ ประเทศไทย (Y&R Thailand) เผยถึงผลศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ในงานสัมมนา วัดชีพจรแบรนด์ สแกนจริตคนไทย เมื่อเร็วๆนี้ว่า ปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค เกิดขึ้นตั้งแต่อินเตอร์เน็ทเข้ามามีอิทธิพลในไทยตั้งแต่ปี 2543 ค่อยๆเปลี่ยนชีวิตผู้คน (Dynamic) โดยแยกให้เห็นชัดเป็น 4 คลื่นดิจิทัล

เริ่มต้นจากคลื่นลูกที่ 1 ระบบปฏิบัติการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมและสังคม

คลื่นลูกที่ 2  อินเตอร์เน็ทบนมือถือเฟื่องฟู ทำให้คนสื่อสาร ข้อมูลข่าวสารกันได้ทุกที่ทุกเวลาในเวลาเดียวกัน (Real time) พร้อมกับการมาถึงของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)

คลื่นลูกที่ 3 เป็นยุคที่ทุกสรรพสิ่งเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ท (Internet of Things)

เพียงไม่กี่ปีข้างหน้า (ปี 2563) เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 ของดิจิทัล โลกที่เต็มไปด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI -Artificial Intelligent) นำหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนคน (Robotics) จากความฉลาดปราชญ์เปรื่องของเทคโนโลยี ต่อไปไม่แน่ว่าคนจะหันไปคุยกับหุ่นยนต์มากกว่าคู่ชีวิตของเราเอง เขาพูดติดตลก

จะเห็นได้ว่า เส้นทางวิวัฒนาการของเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบๆ ตัวของผู้บริโภคอย่างพลิกหน้ามือ รวมไปถึงรูปแบบการทำธุรกิจ และการสร้างแบรนด์ 

โดยลูกค้าไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้า เพราะถูกควบคุมความคิดด้วยสื่อแบบเก่าอีกต่อไป โดยเส้นทางการตัดสินใจซื้อมาจากหลากหลายปัจจัยประกอบกันมากขึ้น บางคนหาข้อมูลเอง อ่านรีวิวจากบทความ หรือกูรูแนะนำ บางคนดูยูทูป และบางคนเห็นป้ายโฆษณา แล้วเข้าไปช้อปออนไลน์ เส้นทางการตัดสินใจซื้อของลูกค้าจึงยุ่งยากซับซ้อนกว่ากระบวนการแบบเดิม

ที่สำคัญความรู้สึกจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) จะไม่มีในมนุษย์ยุคดิจิทัลอีกต่อไป !

“กลุ่มลูกค้ามักกลัวว่าหากไปภักดีกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง จะพลาดโอกาสที่แบรนด์คู่แข่งจะให้ประโยชน์ในบางอย่างกับเขา” โอลิเวอร์ อธิบายปรากฏการณ์

พร้อมยกตัวอย่างว่า ปีที่ผ่านมา (2560) สถิติจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงยอดการจดทะเบียนชื่อตราสินค้า(Brand) มีมากถึง 35,809 แบรนด์

ตัวเลขแบรนด์ในไทยที่เพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่าคนไทยเริ่มตระหนักและเข้าใจความสำคัญของการสร้างแบรนด์ จึงเร่งผลิตแบรนด์ออกสู่ท้องตลาด แต่สิ่งที่ต้องพูดถึง ไม่เพียงการสร้างแบรนด์ แต่ต้องเข้าใจวิธีการทำให้แบรนด์อยู่รอด ! 

“คนไทยถูกสอนให้สร้างแบรนด์เพราะเข้าใจว่า แบรนด์ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่า แต่ไม่ถูกสอนว่าจะทำให้แบรนด์อยู่รอดอย่างยั่งยืนได้อยางไร” เขาชี้จุดอ่อนแบรนด์ไทย และว่า ยุคดิจิทัลลูกค้าก้าวไปไกลแล้ว แต่ธุรกิจยังเพิ่งเข้าใจการทำแบรนด์ แต่ยังขาดกลยุทธ์ไล่ให้ทันเกมทางการตลาดเพื่อรักษาแบรนด์ที่เราสร้างมา

โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลแบรนด์สุ่มเสี่ยงที่จะเจอศึกรอบทิศทางทั้งคู่แข่ง และอิทธิพลการสื่อสารในโลกโซเชียล แค่แชร์ต่อในเรื่องไม่ดี ก็ทำให้แบรนด์สิ้นชื่อ ดับไปในตลาดทันที

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสื่อโซเชียลทรงอิทธิพลมากในขณะนี้ จึงเกิดกรณีแปลกๆ หลากหลายที่แบรนด์ และธุรกิจถูกบังคับให้ลงไปเล่นในโลกโซเชียล ไม่เช่นนั้นก็เกรงว่าจะตกขบวน

“ยุคนี้ลูกค้าไม่บ่นหรือตำหนิการบริการ หรือสินค้าผ่านแค่คอลเซ็นเตอร์ แต่จะไปปรากฏบนสื่อโซเชียล แบรนด์จึงเสี่ยงเกิดวิกฤติได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ๆ”

อย่างกรณีลูกค้ารายหนึ่งกระเป๋าเดินทางที่ขนส่งจากเครื่องบินแตกหัก แต่กลับได้เงินคืนแค่ 500 บาท เพราะไม่ได้ซื้อประกัน บ่นไปบ่นมาในโซเชียล ปรากฏว่ามีแบรนด์กล้องรายหนึ่ง เห็นเรื่องนี้ในโลกโซเชียล เมื่อเกิดการแชร์ต่อ และเกิดการแย่งซีนมอบกระเป๋าแทนสายการบิน ได้ใจผู้บริโภค และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในโลกโซเชียลไปเต็มๆ

ประธานอำนวยการ วายแอนด์อาร์ ประเทศไทย ยังเผยถึง จริตของคนไทยในยุคดิจิทัล แปลงมาเป็นการกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารแปลกใหม่ ทั้งการตลาด การขาย จนถึงธุรกิจแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นได้อย่างอึ้ง ทึ่งกับไอเดียบรรเจิด สุดแสนจะครีเอทีฟ

อย่างเช่น ธุรกิจเช่าสินสอด ที่มีตั้งแต่ระดับห้าแสนบาทจนถึงหลักสิบล้านบาท ตลอดจนมีการจัดโปรไฟลุก เรียกแขกในโลกออนไลน์

นี่คือการที่แบรนด์ยุคนี้เข้าไปใช้กลยุทธ์การสื่อสาร แบบเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง โดยการ “สปอยล์”ลูกค้าในยุคดิจิทัลผ่านกลวิธีเอาอกเอาใจสารพัด

นั่นเพราะมนุษย์ยุคดิจิทัลต้องการให้คนเทคแคร์ ดูแล เอาใจใส่ เข้าใจ และปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ด้วยความจริงใจ

พฤติกรรมเหล่านี้คือการบันทึก เฝ้าติดตามอารมณ์ของมนุษย์ดิจิทัล หรือเรียกว่า มนุษย์วิทยาที่รวบรวมมาวิเคราะห์ตามหลัก"สถิติทางวิทยาศาสตร์(Data Science)" เพื่อให้นักการตลาด นักสื่อสารนำข้อมูลเหล่านี้ มาใช้เป็นองค์ประกอบ ออกแบบกลยุทธ์การตลาด ได้อย่างแม่นยำ

ล่าสุด ในการรวบรวมข้อมูลมากมายมหาศาล (Big Data)ของ Y&R  ได้ถอดรหัสข้อมูลผู้บริโภคที่สะสมมากกว่า 26 ปี (ตั้งแต่ปี 2536) จากฐานข้อมูลกลุ่มสินค้า กรณีศึกษาของมหาลัยชั้นนำกว่า 430 กรณีศึกษา จาก 59,000 แบรนด์จาก 52 ประเทศ โดยการประเมินจากฐาน 70 เกณฑ์ตัวชี้วัด ที่มาจากกลุ่มผู้บริโภค 1.4 ล้านคน จึงเคลมได้ว่า เป็นฐานข้อมูลด้านแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (World ’s Largest Brand Database) เขาเผย

โดยข้อมูลดังงกล่าว ตกผลึกเส้นทางการสร้างแบรนด์สุขภาพดี มีอายุยืนยาว เป็นที่รัก ได้รับความนิยมของผู้คน สร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับแบรนด์ จะมีองค์ประกอบการวัดคุณค่าของแบรนด์โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า Y&R BAV (Brand Asset Valuator) ประกอบด้วย 4 เสาหลักคือ

1.พลังเปล่งแสงความแตกต่าง และโดดเด่น (Energized Differentiation -DE)เป็นแบรนด์ที่มีความเฉพาะ

2.ความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับลูกค้า (Relevancy-R) กลยุทธ์รุกชิงฐานลูกค้าให้ได้มากกว่าคู่แข่ง

3.คนยกยกย่อง (Esteem-E) ได้รับการชื่นชม แซ่ซ้อง โดยการถูกพูดถึงทำให้เกิดอิทธิพลกับลูกค้า

4.เป็นแบรนด์คุ้นเคยเข้าใจ (Knowledge-N) รู้จักอย่างเพื่อนสนิทพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน กลยุทธ์การสร้างประสบการณ์จึงทำให้คนจดจำแบรนด์ในแบบที่บุคลิกแบรนด์ต้องการสื่อสาร

นักวางแผนกลยุทธ์ ยังสรุปวิธีใช้ BAV ให้ฟังว่า ทั้ง 4 ด้าน จะเป็น 4 มุมของการวัดว่า แบรนด์จะยั่งยืนยาวนานหรือไม่ โดย 2 ตัวแรก DE และ R มีส่วนทำให้แบรนด์แข็งแกร่ง ทรงพลัง เติบโตได้ยั่งยืนในอนาคต ขณะที่2 ตัวสุดท้ายเป็นการวัดลักษณะการบริหารจัดการสถานการณ์การรักษาคุณค่าแบรนด์ในปัจจุบัน

โดยการวัดเช่นนี้ เป็นการวัดและต่อสู้กันแบบเลือดสาด ซาดิสต์ เพราะเป็นการนำทุกแบรนด์ทุกสัญชาติมาข้ามกลุ่มธุรกิจ(Category) ตามเกณฑ์ BAV

สาเหตุที่ต้องวัดข้ามเซ็คเมนท์ รายสินค้า เพราะหากต้องการวัดความแข็งแรงและคุณค่าที่แท้จริงและยั่งยืน เป็นแบรนด์ในใจคนได้ ต้องทำผลงานได้ดีเทียบแบรนด์อื่นได้แบบข้ามหมวดหมู่สินค้า

---------------------------------------

วัดพลังแบรนด์ไทย

เทียบแบรนด์นอก

โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานอำนวยการ วายแอนด์อาร์ ประเทศไทย ยังเผยถึงการวัดคุณค่าของแบรนด์ ด้วยเครื่องมือ Y&R BAV ผลการวัดครั้งล่าสุด ถือเป็นครั้งที่ 6 ในปี 2561 นี้ ใช้เวลาในการวิจัยนานกว่า 1 ปี ไปศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของแบรนด์และทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคอายุ ระหว่าง 18-65 ปี กว่า 13,380 ตัวอย่าง จาก 1,220 แบรนด์ที่ทำตลาดในเมืองไทย ครอบคลุม 120 หมวดสินค้า โดยรวบรวมมามากกว่า 50 ประเทศ

พบปรากฎการณ์ของแบรนด์ที่เปลี่ยนไปจากครั้งก่อน (ครั้งที่ 5 ในปี 2557 ) อย่างชัดเจน

โดยผลการวัดพลังของแบรนด์ไทย ผ่านไส้ใน BAV มาช่วยถอดรหัสแบรนด์ไทย จัดอันดับท็อป 10 แบรนด์อันทรงคุณค่าของคนไทย กลับพบว่า 9 แบรนด์มาจากแบรนด์ต่างแดน มีแบรนด์ไทยเพียง 1 แบรนด์ที่หลุดรอดเข้าไปติดอันดับท็อป 10 นั่นคือ เวิร์คพอยท์

โดย 10 อันดับแรก ประกอบด้วย ยูทูป,แอปเปิ้ล,ไลน์,ไมโครซอฟต์,เฟซบุ๊ค,อาดิดาส,โตโยต้า,ซัมซุง,และ เวิร์คพอยท์ แบรนด์ไทยรั้งไทยอันดับที่ 10 แบรนด์ส่วนใหญ่ที่เข้ามาติดท็อปเท็นในปีนี้เป็นแบรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรม และไอที จึงเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่แบรนด์ไทยเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่คนเห็นทุกวันจะติดแบรนด์ทรงพลัง เพราะยุคคนใช้มือถือ เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ทกลุ่มแบรนด์เหล่านี้จึงปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคมากกว่าแบรนด์ไทย

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากปี 2557 ที่แบรนด์มีคุณค่าในใจคน คือ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ซื้อกินใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แบรนด์มาม่า,เซเว่น อีเลฟเว่น,บิ๊กซี,เทสโก้ โลตัส,ไทยพาณิชย์ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ! 

สำหรับการวัดพลังแบรนด์ไทยในสนามรบใหม่ปีนี้ เป็นการวัดข้ามทุกเกณฑ์รายสินค้า แบรนด์ไทยต้องแข่งในสนามอินเตอร์ จึงต้องวัดแบรนด์ไทยเทียบกับแบรนด์อินเตอร์ โดยการจัดอันดับ 100 แบรนด์ที่มีคุณค่าและมูลค่าในประเทศไทย ค้นพบว่า แบรนด์ไทยติดอันดับ 40 แบรนด์ หากตัดแบรนด์มหาวิทยาลัยออก เพราะเกี่ยวข้องกับคนเฉพาะแค่ตอนเรียนระดับมหาวิทยาลัย 4-6 ปี ก็เหลือ 30 แบรนด์ไทย

ค้นพบว่า แบรนด์ที่ติดอันดับส่วนใหญ่อยู่ใน 4 กลุ่มรายสินค้า ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี คือ อินเตอร์เน็ท รถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 30% กลุ่มธุรกิจบริการและการบริการจัดการ 23% เช่น กลุ่มธนาคาร และมหาวิทยาลัย และสุดท้าย กลุ่มค้าปลีก สัดส่วน 10%

แบรนด์ไทยที่ทำได้ดี อาทิ ปตท.,เดอะมอลล์,เซ็นทรัล รวมไปถึงธนาคารแต่ละกลุ่มจะมีจุดบกพร่องใน 4 เสา ที่แตกต่างกัน แต่ละแบรนด์จึงมีโครงสร้างกระจายตัวเติบโตกันคนละแบบ ขณะที่แบรนด์ต่างประเทศแข็งแกร่งด้วยตัวเองในรูปแบบเดียวกัน จึงเกาะกลุ่มกันอยู่ระดับผลงานที่ดี

ข้อค้นพบยังสะท้อนให้เห็นว่า แบรนด์ไทยเริ่มติดอันดับแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่ง นั่นเพราะ ยังเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคน เพราะความนิยมและเห็นคุณค่าความเป็นแบรนด์สัญชาติไทย เริ่มได้รับความนิยมและภาคภูมิใจในแบรนด์คนไทยเพิ่มขึ้น

ทว่า เมื่อนำเกณฑ์ BAV เข้าไปจับกับแบรนด์นอก และแบรนด์ไทย สิ่งที่ค้นพบ คือ แบรนด์ไทยยังมีจุดเสี่ยงในความยั่งยืนของแบรนด์ในระยะยาว ที่ยังขาดพลัง หรือความโดดเด่น และความเป็นตัวตนชัดเจน จึงเห็นสัญญาณของการเติบโตในอนาคตน้อยมาก

แบรนด์อินเตอร์ในกราฟค่อนข้างจับกลุ่มชัดเจน แข็งแกร่งเท่าๆ กันทั้ง 4 ด้านจึงยืนได้ด้วยตัวเอง แต่แบรนด์ไทยค่อนข้างกระจัดกระจายโดดเด่นแตกต่างกัน โดยเฉพาะด้านการพลังเปล่งแสงความแตกต่าง และโดดเด่น และความเกี่ยวข้อง เช่น แบรนด์อาดิดาส ที่พยายามที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง จึงออกรุ่นใหม่ NMD ปลุกกระแสให้คนชื่นชอบ และที่สำคัญยังครองใจคนทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่นยันคนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

“แบรนด์ต้องไม่หยุดนิ่ง หากทำตัวเหมือนเดิม คนก็ไม่สนใจ ต้องสร้างสิ่งใหม่ ให้คนพูดถึงในเชิงบวกตลอดเวลา” นี่คือสิ่งที่แบรนด์เก่าแต่ไม่เคยเอาท์ออกจากตลาด ยังคงเฟรชชี่ สดใสตลอดเวลา เข้ากับคนทุกยุค ทุกสมัย

จากเกณฑ์การประเมิน 4 เสา BAV บ่งชี้ว่า พลังแบรนด์ไทยที่ทำได้ดีในด้านของ ความคิดสร้างสรรค์ ได้รับความนิยม ถูกพูดถึงในกลุ่มคน แต่มองความยั่งยืนในระยะยาว แบรนด์ไทยค่อนข้างขาดในด้านของพลังความแตกต่าง

“แบรนด์ไทยตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ขายได้ดี มีการพูดถึงแต่การขายได้มาร์เก็ตแชร์สูงไม่ได้การันตีความยั่งยืนถึงมูลค่าแบรนด์ที่จับต้องไม่ได้ในระยะยาว (Intangible asset)

เขามองว่า แบรนด์ไทยขาดการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร และสร้างความโดดเด่น ตัวตนในระยะยาว เพราะแบรนด์ไทยเข้าไปเล่นกับโลกโซเชียลที่เข้ามามีอิทธิพลมากจนเกินไป จนหลงลืมความเป็นตัวตน จึงตกอยู่ในภาวะจุดยืนแบรนด์บกพร่อง

ในขณะเดียวกัน เมื่อแพลตฟอร์มการสื่อสารเพิ่มมากขึ้น คู่แข่งในตลาดก็มากขึ้น มีความหลากหลายช่องทางการสื่อสาร ทำให้แบรนด์จดจำได้น้อยลง ส่งผลทำให้คุณค่าด้านความน่าเชื่อถือของแบรนด์ไทยลดลง (Trustworthy)อย่างต่อเนื่องในช่วงการสำรวจที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544 

เขาสรุปความแตกต่างของแบรนด์นอก มีสิ่งที่โดดเด่นคือ ความชิค ดูมีสไตล์ มีความเป็นแฟชั่น มีเสน่ห์ สนุกสนาน และเซ็กซ์ซี่น่าค้นหา ขณะที่แบรนด์ไทยมีสิ่งที่น่าสนใจ ตรงที่มีความเป็นเนื้อแท้ คลาสสิค ดั้งเดิม ใจดี มีความเป็นมิตรไมตรี มีความซื่อตรง

“แบรนด์ไทยเก่งเรื่อการสื่อสารพูดคุยแบบกระตุ้นอารมณ์(Emotional)ว่าเป็นแบรนด์ที่เข้าใจ รักและทำให้รู้สึกดี แต่พอจะขอความช่วยเหลือ ผู้บริโภคต้องการคนที่เก่ง จึงไปหาลูกครึ่งแบรนด์นอก ที่ดูเก่ง ชัดเจน”

ข้อโดดเด่นที่ทั้งสองแบรนด์มีตรงกันคือ คนรู้สึกคุ้มค่าที่ยอมจ่ายเงินซื้อ มีความเรียบง่าย และไม่ทำให้กังวลใจ

ดั้งนั้นแบรนด์ไทยต้องรู้จักวางแผนให้เป็นระบบ มีความชัดเจน ในบุคลิก มีความโดดเด่น มีวินัย วางแผนล่วงหน้าในระยะยาว

คนไทยแก้ปัญหาเก่งแต่วางแผนไม่เก่ง เราจึงเห็นเอสเอ็มอีหลายรายไม่เคยวางแผนปีหน้า แค่วางแผนแค่ระยะสั้นแบบมวยวัด แบรนด์จึงไม่มีพลังชัดเจน

ข้ามไปดูการใช้ตัวแทนสินค้าในการสื่อสารแบรนด์ (Brand Ambassador)ก็เปลี่ยนไปจากช่วง3-4ปีที่ผ่านมาที่ทำการวัด โดยภาพรวมคนเริ่มมองหาสิ่งที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยตัวแทนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมเป็นตัวแทนแบรนด์สูงสุด คือ โอปอล์ 55.4% รองลงมาคือ ใหม่ ดาวิกา 53% ญาญ่า อุรัสยา 49.7% ลูกเกด เมทินี 48.8% และ ปู ไปรยา 44.4%

ส่วนคนมีชื่อเสียง (Celebrities) ที่ได้รับความนิยมถูกใช้เป็นตัวแทนแบรนด์สูงสุด กลับไม่ใช่ดารา นักแสดง คนมีชื่อเสียง แต่เป็นการ์ตูน โดราเอมอน ที่ทำให้คนทุกวัยรักและจดจำ

ส่วนคนที่ได้รับความนิยมรองมากลับไม่ใช่ดาราขวัญใจวัยรุ่นในอดีตที่3-4ปีที่ผ่านมา ณเดชน์ ถูกดึงมาเป็นตัวแทนสินค้ามากถึง 40-50 แบรนด์ แต่ปีนี้คนที่มาแรงแซงทุกคนคือดารารุ่นใหญ่ อย่าง ก้องสหรัฐ,รองลงมาคือ ชมพู่ อารียา และอันดับ 3 คือ กันต์ กันตถาวร พิธีกรในรายการหน้ากากนักร้อง (The Mask Singer) และณเดชน์ หล่นมาอยู่อันดับ 4

แม้ภาพความนิยมการใช้พรีเซนเตอร์จะเปลี่ยนแปลงไป แต่สังคมไทย ยังต้องใช้ดารา หรือ เซเล็บ เป็นพรีเซนเตอร์เป็นตัวแทนสินค้า เพราะผู้บริโภคนไทยไม่ได้หมายถึงแค่ในกรุงเทพ ที่รู้จักสินค้า แต่คนต่างจังหวัด ก็เป็นฐานผู้บริโภคที่มีพลังการซื้อสินค้าในหรายร้อยแบรนด์