ร้องดีเอสไอสอบ 'แชร์มันญี่ปุ่น' ลวงเกษตรกร 25 จว.

ร้องดีเอสไอสอบ 'แชร์มันญี่ปุ่น' ลวงเกษตรกร 25 จว.

ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกมันกว่า 40 ราย ร้องดีเอสไอ ถูกหลอกลงทุนปลูกมันญี่ปุ่นพร้อมรับซื้อคืน-จ่ายเงินถึงที่ หลังตัดยอดพันธุ์ส่งขาย บริษัทไม่จ่ายเงิน

นายศรีสุวรรณ จรรยา อุปนายกและเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำนางธัญชนก ฤทธิ์บำรุง เกษตรกรจังหวัดลพบุรี , นายนายสมบัติ สมแสง เกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วยเกษตรกรผู้เสียหายกว่า 40 ราย ที่ถูกบริษัทแห่งหนึ่ง หลอกให้ลงทุนซื้อต้นอ่อนมันญี่ปุ่นสายพันธุ์ไข่, โอนิกาว่า, ฮาวายเอี้ยน, และเบนิฮารุกะ มายื่นหนังสือต่อดีเอสไอให้รับคดีไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษในคดีฉ้อโกงประชาชน

เนื่องจากแผนการตลาดระบุว่า หากปลูกมันญี่ปุ่น 1 ไร่ 45 วัน ลงทุน 40,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่ายอดพันธุ์มันญี่ปุ่นเฉลี่ย 400,000 บาท และบริษัทจะมารับซื้อพร้อมจ่ายเงินสดให้ถึงไร่ หากเกษตรกรรายใดสามารถชักชวนผู้ร่วมโครงการเพาะปลูกมันเทศได้ตั้งแต่ 30-35 ไร่ขึ้นไป จะได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากลุ่มและบริษัทจะดาวน์รถกระบะให้ 1 คัน ทำให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 25 จังหวัด หลงเชื่อคิดว่าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงร่วมลงทุนปลูกมันญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และยังชักชวนญาติและเพื่อนเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงให้ร่วมลงทุนปลูกมัน

 

ร้องดีเอสไอสอบ

นางธัญชนก กล่าวว่า เมื่อเดือนส.ค.60 บริษัทแห่งหนึ่ง ได้ส่งพนักงานของบริษัทไปจัดอบรมเกษตรกร เพื่อแนะนำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเพาะปลูกมันเทศญี่ปุ่น เมื่อได้ผลผลิตยอดพันธุ์ก็สามารถนำไปขายคืนให้กับบริษัทได้ หากเกษตรกรรายใดสามารถรวบรวมเกษตรกรได้ 30-35 ไร่ขึ้นไป บริษัทจะออกรถให้ 1 คัน โดยน.ส.พบพร พิภพโยพิณกุล และนายธนกฤต ผันสำโรง ผู้จัดการบริษัท ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้การปลูกมันเทศด้วยตนเอง แต่เกษตรกรต้องทำหนังสือซื้อยอดมันเทศกับบริษัทราคายอดละ 10 บาท เมื่อนำไปปลูกจะแตกยอด 10-20 ยอด และบริษัทจะรับซื้อคืนทุกยอดที่มีความสมบูรณ์และความยาว 30 เซนติเมตร นอกจากนี้ จะส่งพนักงานมาลงพื้นที่ตรวจแปลงเกษตรป้องกันไม่ให้นำปุ๋ยเคมีมาใช้ โดยระยะแรกบริษัทจ่ายผลตอบแทนตรงตามกำหนด

 

นางธัญชนก กล่าวอีกว่า ต่อมาบริษัทเริ่มบ่ายเบี่ยงให้เกษตรกรตัดยอดพันธุ์ไปส่งให้บริษัทเอง แต่ก็ยังไม่ยอมจ่ายเงินอ้างว่าขอตรวจสอบคุณภาพก่อน จากนั้นจะอ้างว่าผลผลิตเน่าเสียหรือไม่ได้มาตรฐาน จ่ายเงินยอดพันธุ์มันญี่ปุ่นแค่ครึ่งเดียว หรือจ่ายเฉพาะค่าน้ำมันรถกิโลเมตรละ 1 บาท ทำให้เกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันไปแจ้งความที่สน.ปักธงชัย แต่ผ่านมาหลายเดือนคดีไม่คืบหน้า จึงต้องมาร้องขอให้ดีเอสไอสอบสวนเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีลักษณะเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่และมีเกษตรกรผู้เสียหายกระจายอยู่ 25 จังหวัด ขณะที่บริษัทยังขยายฐานลูกค้าไปยังเกษตรกรรายอื่น โดยชักจูงว่าจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มจากการรับซื้อยอดพันธุ์คืนยอดละ 5.50 บาท สูงกว่าจ่ายให้เกษตรกรรายเก่ายอดละ 1 บาท ล่าสุดเมื่อถูกทวงถามค่ายอดพันธุ์ ผู้จัดการบริษัทจะไม่รับโทรศัพท์ แต่จะสื่อสารผ่านข้อความไลน์ว่าบริษัทหยุดทำการ เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1-6 พ.ค. เพื่อเคลียร์เอกสาร
 

ร้องดีเอสไอสอบ

 

ด้านนายสมบัติ กล่าวว่า ตนให้ความสนใจกับการปลูกมันญี่ปุ่นเป็นรายแรกๆ และได้ชักชวนญาติพร้อมเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้าน รวมตัวกันได้ประมาณ 30 ไร่ บริษัทจึงตั้งให้เป็นผู้นำกลุ่ม และดาวน์รถกระบะให้ 1 คัน ต่อมาพบความผิดปกติจากการจ่ายเงินล่าช้า และใบเสร็จรับเงินที่ไม่ได้ออกในรูปบริษัท แต่เป็นลายมือเขียน อีกทั้งในการรับซื้อคืนก็นำยอดพันธุ์ไปกองรวมกันโดยไม่แยกว่ามาจากเกษตรกรรายใด หรือนำยอดพันธุ์ที่รับซื้อคืนไปขายต่อให้กับเกษตรกรรายใหม่ที่มารับซื้อทันทีก่อนตรวจคุณภาพ เห็นว่าระบบการรับซื้อดังกล่าวไม่ใช่การเก็บรักษาเพื่อตรวจสอบคุณภาพตามที่กล่าวอ้าง จึงได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกและไม่ชักชวนเกษตรกรให้ร่วมโครงการเพิ่ม ทำให้บริษัทติดต่อขอทวงรถคืน แต่ไม่ยอมคืนเงินค่างวดที่ตนจ่ายไปแล้วกว่า 1 แสนบาท ตนจึงไม่ยอมคืนรถให้เพราะยังตกลงค่าเสียหายกันไม่ลงตัว

   

ขณะที่เกษตรกรรายอื่นๆ กล่าวว่า ในการปลูกมันญี่ปุ่น เมื่อตัดยอดแล้วต้องทำลายแปลงทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์เอง ส่วนหัวมันซึ่งเป็นผลพลอยได้เกษตรกรต้องทำสัญญาขายให้กับบริษัทเท่านั้น โดยจะรับซื้อกิโลละ 10-30 บาท และมีการโฆษณาชวนเชื่อว่าบริษัททำสัญญาขายมันให้กับห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่าหัวมันที่ปลูกได้เป็นคนละสายพันธุ์กับมันหวาน (สวีทโปเตโต้) ซึ่งเป็นที่นิยมในท้องตลาด