กทม. ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิสื่อสังคม ร่วมรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน

กทม. ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิสื่อสังคม ร่วมรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน

กทม. ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิสื่อสังคม ผนึกกำลังร่วมรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสื่อสังคม ร่วมกันแถลงข่าวการประสานความร่วมมือในการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอัคคีภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมาก
จึงมุ่งเน้นการกระตุ้นให้มีจิตสำนึกสาธารณะเพื่อช่วยกันดูแลความปลอดภัยของชุมชน โดยจัดทำสื่อเผยแพร่ พร้อมทั้งจัดอบรมเต็มรูปแบบให้ชุมชนต่างๆ ใน กทม.


นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อัคคีภัยหรือเพลิงไหม้ เป็นภัย ที่ใกล้ตัว ที่เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และความประมาทขาดความระมัดระวัง ปัจจุบันมีแนวโน้มความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในชุมชน อาคารสูง และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โดยในปี 2558 มีเหตุเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร จำนวน 646 ครั้ง ปี 2559 เหตุเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร จำนวน 681 ครั้ง และในปี 2560 ที่ผ่านมามีสถิติการเกิดเหตุเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร จำนวน 783 ครั้ง โดยสถิติเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมีนาคม 2561 มีเหตุเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจร จำนวน 137 ครั้ง โดยสถิติผู้เสียชีวิตที่เกิดจากเหตุอัคคีภัย ในปี 2560 มีจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวน 23 ราย ผู้บาดเจ็บ จำนวน 117 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเพียงแค่ จำนวน 11 ราย ผู้บาดเจ็บ จำนวน 135 ราย และในปี 2558 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 14 ราย ผู้บาดเจ็บ จำนวน 183 ราย ซึ่งสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ก่อให้เกิดผลกระทบอีกหลายด้าน ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต คุณภาพชีวิต และมีค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนการฟื้นฟูบูรณะอีกมากมาย


“กรุงเทพมหานครมีนโยบายด้านความปลอดภัย ที่มุ่งให้ชีวิตปลอดภัย ทรัพย์สินปลอดภัย ชุมชนและสังคมปลอดภัย โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องอัคคีภัยในชุมชนซึ่งมีความเสี่ยงสูง เพราะบ้านเรือนส่วนมากสร้างจากไม้และมีระยะชิดกัน หากเกิดเพลิงไหม้จะลุกลามอย่างรวดเร็ว ใน กทม. มีชุมชนจำนวนมากถึง 2,067 ชุมชน มีจำนวนครัวเรือนรวมทั้งสิ้นกว่า 473,684 ครัวเรือน มีประชากรราว 5,686,464 คน การกระตุ้นให้สมาชิกของแต่ละชุมชนมีจิตสาธารณะในการช่วยกันเฝ้าระวังและดูแลชุมชน ตลอดจนการร่วมมือกับทุกภาคส่วน จะช่วยป้องกันการเกิดอัคคีภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ผู้ว่า กทม. กล่าว

กทม. ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิสื่อสังคม ร่วมรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “อัคคีภัยเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ที่ทางสสส.ภายใต้แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงต่อสังคม มีจุดเน้นการดำเนินงานด้านการส่งเสริมให้ความรู้ที่เหมาะสมด้านภัยพิบัติกับสาธารณะ ความรู้ การเตรียมความพร้อมและการป้องกันภัยภาคปฏิบัติกับประชาชน ที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม และมีเป้าหมายในการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย จึงสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ โดยมุ่งเน้นที่การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันและระงับอัคคีภัย รวมถึงการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ โดยมีภาคีหลักคือมูลนิธิสื่อสังคม ที่ทำงานขับเคลื่อนรณรงค์ร่วมกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร และสมัชชาสภาองค์กรชุมชน ภาคกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องมาหลายปี สำหรับปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำสื่อรณรงค์ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ภายใต้แนวคิด ‘ยิ่งรู้ยิ่งรอด ปลอดอัคคีภัย’ ซึ่งจะนำไปเผยแพร่ผ่านเครือข่ายและช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งของ กทม., สสส. และมูลนิธิสื่อสังคม ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ใส่ใจในการเลือกซื้อและใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกต้องเหมาะสม และหมั่นตรวจตราบ้านเรือน พร้อมทั้งร่วมช่วยกันดูแลความปลอดภัยในชุมชนอย่างเข้มแข็งต่อไป”

กทม. ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิสื่อสังคม ร่วมรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน

ด้าน พ.ต.ท. บุญเรือง แสงดาว ที่ปรึกษามูลนิธิสื่อสังคม กล่าวถึงการดำเนินงานรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชนของมูลนิธิสื่อสังคมว่า “เราเน้นการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพของชุมชน โดยให้ความรู้ ทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกัน ระงับเหตุ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในชุมชน เช่น การดับเพลิงขั้นต้น การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รวมถึงการทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีการจัดทำแผนที่ชุมชนและเส้นทางอพยพ การทำบัญชีรายชื่อกลุ่มอ่อนแอที่ต้องช่วยเหลือก่อนเมื่อเกิดเหตุ เตรียมขั้นตอนการอพยพ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นต้น โดยมีการฝึกซ้อมสถานการณ์สมมุติร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงในพื้นที่ ได้รับความสนใจจากชุมชนในเขตต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เข้าร่วมฝึกอบรมมากขึ้น ในแต่ละปี โดยส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัดที่มีความเสี่ยงต่ออัคคีภัยสูง ซึ่งได้นำความรู้ไปใช้ในการเฝ้าระวังภัย ในชุมชน เช่น การช่วยกันดูแลสอดส่องเหตุผิดปกติ การสำรวจจุดชำรุดของสายไฟฟ้าและปลั๊กไฟ การใช้ เตาแก๊สและเครื่องไฟฟ้าอย่างปลอดภัย การตรวจสอบถังดับเพลิง และมีการรณรงค์และถ่ายทอดความรู้ไปยังครอบครัวและเพื่อนบ้านในชุมชน ผ่านการประกาศเสียงตามสาย หรือการบอกต่อด้วย”