สส. มอบโล่รางวัล เชิดชู 81 วัด ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม

สส. มอบโล่รางวัล เชิดชู 81 วัด ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม

สส. มอบโล่รางวัล เชิดชู 81 วัด ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สังคมไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ความสำคัญแก่วัดและพระภิกษุสงฆ์ ในการเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธา เชื่อถือมาอย่างต่อเนื่อง วัดและพระภิกษุสงฆ์จึงถือเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการนำพาชุมชนและสังคมไทยให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการมีสติ ตื่นรู้ และก้าวทันตามพลวัตรการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของโลก การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีในวัดจึงถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีในการถ่ายทอดความรู้ แนวทางการปฏิบัติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่ชุมชนและสังคม โดยมีพระภิกษุสงฆ์เป็นตัวอย่างนำพาการประพฤติปฏิบัติสู่ชุมชนและสังคมไทย รวมถึงการเทศนา สั่งสอน และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกให้แก่ศาสนิกชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นวัดและพระภิกษุสงฆ์ จึงถือเป็นเครือข่ายอันทรงพลังที่กระจายอยู่ใกล้ชิดกับชุมชน และสังคมไทยทั่วประเทศที่มีศักยภาพในการส่งเสริมสนับสนุน และสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เมื่อประชาชนมีความตระหนักและเกิดจิตสำนึกการมีส่วนร่วมที่ดีในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ย่อมก่อให้เกิดพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศให้มีความอยู่ดีมีสุขอย่างมีดุลยภาพ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นความสำคัญของวัดและพระภิกษุสงฆ์ โดยได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้นำทางศาสนา เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายที่มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ สร้างความตระหนักและจิตสำนึกในการจัดการสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กับชุมชน โดยส่งเสริมการประยุกต์ใช้เกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดเป็นเครื่องมือในการพัฒนายกระดับการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นแบบอย่างการปฏิบัติที่ดีสู่ชุมชน ซึ่งถือเป็นการบูรณาการงานของส่วนราชการต่าง ๆ ที่สำคัญในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในวัดให้ดียิ่ง โดยยึดหลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้เป็นหลักในการดำเนินงาน

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปีงบประมาณ 2560 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 ในการผลักดันการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดให้บรรลุวัตถุประสงค์ โดยใช้เกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด ซึ่งประกอบด้วย ความสะอาดและความเป็นระเบียบ พื้นที่สีเขียว การจัดการสิ่งแวดล้อม กิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยมีวัดเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 114 วัด และมีวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสิ้น 81 วัด แบ่งเป็น
3 ระดับ ดังนี้

ระดับดีเยี่ยม จำนวน 22 วัด
ระดับดีมาก จำนวน 25 วัด
ระดับดี จำนวน 34 วัด

สำหรับในวันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2561 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้จัดการประชุมมอบโล่รางวัลวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม ณ อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้ ในช่วงเช้า มีการเสวนาเรื่อง “ความสำเร็จของการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัด” โดยมี พระราชรัตนเวที รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ พระครูภาวนาวชิรคุณ ดร. เจ้าอาวาสวัดตึก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอธิการประชุม เจ้าอาวาสวัดท่าประชุม จังหวัดขอนแก่น ร่วมเสวนา และมีร้อยโทพรสวรรค์ จันโปรด อนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ในช่วงบ่าย มีพิธีเปิดการประชุมฯ โดยมีพระพรหมบัณฑิต เจ้าคณะภาค 2 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวสัมโมทนียกถาและกล่าวเปิด พร้อมมอบโล่รางวัลให้กับวัดที่ผ่านเกณฑ์การจัดการสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น 81 วัด

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงนิทรรศการนวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดที่มีประสิทธิภาพในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ วัดแม่คาววัง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย/วัดอรัญญวิเวกคีรี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย/วัดจิกลาด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครวรรค์/วัดสระตอง อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา และวัดนารถวนา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับการประชุมในวันนี้ จึงถือได้ว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการก้าวไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะนอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นการจัดการสิ่งแวดล้อมในวัดเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนแล้ว ยังถือเป็น “การสร้างเครือข่าย ขยายพันธมิตร” เพื่อให้มีความรู้ มีจิตสำนึกในด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย