ส่องปรากฏการณ์อิทธิพลแรง 'อีคอมเมิร์ซไทย'

ส่องปรากฏการณ์อิทธิพลแรง 'อีคอมเมิร์ซไทย'

ไล่เลียงเหตุการณ์ในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซประเทศไทย ปี 2560 นับเป็นอีกหนึ่งปีที่มีเหตุการณ์สำคัญหลายเหตุการณ์ซึ่งส่งผลกระทบ พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

จากการศึกษาพฤติกรรมการเข้าชมสินค้าออนไลน์ของคนไทย โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2560 ถึง 17 เม.ย.2561 ของ “ไอไพรซ์(iPrice)” ผู้ให้บริการค้นหาสินค้าออนไลน์อาเซียน พบว่า ไตรมาสที่ 4 ของปีถือเป็นช่วงเวลาทองของตลาดอีคอมเมิร์ซ เพราะมีเทศกาลชอปออนไลน์หลักๆ ถึงสองเทศกาลทั้ง 11.11 และ 12.12 และจากการศึกษาวันสำคัญตลอดปีที่ผ่านมาพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 31 ธ.ค.เป็นอีกวันที่คนไทยให้ความสำคัญ ในคืนวันที่ 31 ธ.ค.2559 คนไทยเริ่มออกเฉลิมฉลอง เคาท์ดาวน์กับเพื่อนๆ และครอบครัวช่วงประมาณ 19.00 น. เห็นจากยอดเข้าชมสินค้าที่ลดลงกว่า 30% ส่วนในคืนข้ามปีของปี 2560 จำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ลดลงตั้งแต่เวลา 16.00 น.

เทศกาลสงกรานต์ สงกรานต์ปีนี้รัฐบาลให้หยุดยาวนานถึง 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 16 เม.ย. ทำให้จำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ลดลงกว่า 14% จากที่ผู้คนต่างออกเดินทางไปพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจกลุ่มอายุ 55 - 64 และ 25 - 34 ปี เป็นช่วงวัยที่มีการลดลงของจำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์เป็นอันดับต้นๆ โดยวัย 55 - 64 ลดลงกว่า 22% และกลุ่มวัย 25 -34 ลดลงกว่า 20%

วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (วันที่ 26 ต.ค. 2560) คนไทยต่างร่วมใจกันเดินทางไปเข้าร่วมพระราชพิธี ณ ท้องสนามหลวง และติดตามข่าวผ่านทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยจำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ในกรุงเทพฯ ลดลงกว่า 26% และจำนวนผู้ชมสินค้าออนไลน์ในต่างจังหวัดลดลงกว่า 21% 

ชอปจัดหนักวันคนโสด

วันคนโสด 11.11 และ 12.12 ออนไลน์เซล ปีที่ผ่านมาเทศกาลช้อปออนไลน์อย่าง 11.11 และ 12.12 เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย โดยยักษ์ใหญ่อย่าง “ลาซาด้า” ได้จัดแคมเปญประชาสัมพันธ์และสร้างยอดขายอย่างถล่มทลาย โดยงาน 12.12 ปีที่ผ่านมาลาซาด้าสร้างยอดขายกว่า 250 ล้านดอลลาร์

กล่าวได้ว่า งานออนไลน์เซล 11.11 และ 12.12 ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากทั้งสองแคมเปญได้รับการประชาสัมพันธ์จากสามบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างลาซาด้า, ช้อปปี้, และอีเลฟเว่นสตรีท 

ข้อมูลระบุว่า ช่วงเทศกาล 11.11 การเข้าชมผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น 43% พีซี 74% แทบเล็ต 43% ส่วนเทศกาล 12.12 การเข้าชมผ่านมือถือเพิ่มขึ้น 29% พีซี 78% แทบเล็ต 10%

จากข้อมูลข้างต้นพบว่า มีผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ในช่วงกิจกรรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงสำหรับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากผู้ชมสินค้าออนไลน์ถนัดในการชมสินค้าผ่านทางจอขนาดใหญ่ๆ และการใช้คอมพิวเตอร์ยังสะดวกในการชำระค่าสินค้า ที่สำคัญระบบการชำระค่าสินค่าผ่านทางคอมพิวเตอร์มีความเสถียรมากกว่าสมาร์ทโฟน 

อย่างไรก็ดี จากการศึกษา “State of eCommerce” พบว่า จำนวนผู้เข้าชมสินค้าออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 20% โดยประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 12% กล่าวคือยอดเข้าซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านทางโทรศัพท์มือถือจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

ปรับแผนเชิงรุกกระตุ้นยอด

ไอไพรซ์ แนะนำวิธีการรับมือกับการลดลงของจำนวนผู้ชมสินค้าออนไลน์ในช่วงเทศกาลต่างๆ ไว้ว่า เทศกาลและเหตุการณ์ต่างๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าชมสินค้าและซื้อสินค้าออนไลน์ลดลง ดังนั้นร้านค้าที่ทราบถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคสามารถวางแผนรับมือ เช่น กรณีการลดจำนวนของผู้ชมในช่วงสงกรานต์ ร้านค้าสามารถโปรโมทสินค้าที่คนนิยมในช่วงสงกรานต์ได้เช่น ครีมกันแดด, ครีมบำรุงผิว, อุปกรณ์กันน้ำต่างๆ,  ชุดไทยที่กำลังเป็นที่นิยมตามกระแสออเจ้า เป็นต้น 

หรือแม้กระทั่งวันขึ้นปีใหม่ ร้านค้าก็สามารถเตรียมจัดกิจกรรมวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้ โดยร้านค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์อาจโปรโมทให้คนซื้อสื้อผ้าใหม่ตามเคล็ดของคนไทยต้อนรับปีใหม่ด้วยอะไรใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม จากการที่ช่วงเทศกาลมีข้อจำกัดซึ่งส่งผลต่อร้านค้าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดคือ การจัดส่งสินค้าที่ดีเลย์และไปรษณีย์ไทยปิดทำการ และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคลดการซื้อสินค้าออนไลน์ ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกัน แบรนด์กลับพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยการเปิดรับพรีออเดอร์ในช่วงเทศกาลสำคัญโดยใช้การส่งเสริมการขายมาล่อและสัญญาที่จะจัดส่งสินค้าในภายหลังอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ขอให้เตรียมพร้อมรับมือกับช่วงเวลาทองปลายปีไม่ว่าจะเป็น 11.11 หรือ 12.12 ซึ่งเป็นช่วงที่ร้านค้าอีคอมเมิร์ซสามารถทำรายได้ได้สูง หากผู้ประกอบการตัดสินใจที่จะทำการโปรโมทในช่วงดังกล่าวแล้วนั้น การเตรียมพนักงานให้มีจำนวนที่พอสำหรับการรับมือต่อปริมาณการสั่งซื้อนั้นมีความสำคัญ อีกด้านพนักงานในส่วนของบริการลูกค้า (Customer Service) จะต้องสามารถคอยให้คำแนะนำและตอบคำถามลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพื่อทำให้ประสบการณ์ของพวกเขาดีเยี่ยม และนำไปสู่การซื้อสินค้าในลำดับต่อไป และขาดไม่ได้เลยคือ ผู้จัดส่งจะต้องมีความพร้อมสามารถรับมือกับการเตรียมสินค้าเพื่อส่งต่อให้กับไปรษณีย์ไทยหรือบริการส่งสินค้าต่อไป

พร้อมกันนี้ ผู้ดูแลระบบออนไลน์อย่างโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาจะต้องแสตนด์บายในช่วงดังกล่าว เพื่อป้องกันการขัดข้องของระบบ และต้องมั่นใจว่าเว็บไซต์ของร้านค้าสามารถรองรับจำนวนผู้เข้าชม และให้บริการลูกค้าทั้งการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถจำหน่ายและจัดส่งสินค้าได้อย่างสมบูรณ์ 

ส่วนการตลาดที่น่าสนใจ ในช่วงปีที่ผ่านมาคือการใช้ไลฟ์สดวีดิโอบนโซเชียล ยิ่งมีการใช้ดาราและคนดังมาร่วมกิจกรรมยิ่งเป็นการกระจาย “word of mouth” ไปอย่างรวดเร็ว และนอกจากบนโลกโซเชียลช่องทางการสื่อสารอื่นๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ก็ยังคงมีความสำคัญไม่แพ้กัน

รายงานฉบับเต็ม https://ipricethailand.com/เทรนด/insights/5-เหตการณสำคญทสงผลกระทบตอตลาดอคอมเมรซในประเทศไทยพรอมวธการรบมอของรานคาอคอมเมรซ/