ก.วิทย์ร่วมมิตรผลลงขันวิจัยเคมีชีวภาพ6พันล.

ก.วิทย์ร่วมมิตรผลลงขันวิจัยเคมีชีวภาพ6พันล.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ จับมือ “น้ำตาลมิตรผล” ลงขัน 6,000 ล้านบาทดึงสถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์จากเยอรมนี ร่วมวิจัยเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ จับมือ “น้ำตาลมิตรผล” ลงขัน 6,000 ล้านบาทดึงสถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์จากเยอรมนี ร่วมวิจัยเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ (Biorefinery) แปรรูปผลผลิตและของเหลือการเกษตรให้เป็นสารตั้งต้นมูลค่าสูง นำร่องอ้อย มันสำปะหลัง เล็งดึงภาคเอกชนรายใหญ่ 10 รายเข้ามาร่วมในอีอีซีไอ

น้ำตาลมิตรผลได้ทำวิจัยร่วมกับศูนย์ไบโอเทคมากกว่า 10 โครงการวิจัย รวมทั้งงานวิจัยภายในองค์กร อาทิ ยีสต์ที่ได้จากการผลิตเอทานอลมาทำเป็นอาหารสัตว์ รวมถึงการต่อยอดนำยีสต์มาแยกเซลล์พบว่ามีเบต้ากลูแคนที่สามารถพัฒนาเป็นอาหารเสริม นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาผลิตภัณฑ์อีกหลายตัว เช่น กรดแลคติคส่วนผสมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง หรือการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นน้ำตาลแคลอรีต่ำ

โมเดลต้นแบบไบโอโพลิส

จากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi หนึ่งในนั้นคือการผลักดัน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้ทางด้านไบโอรี่ไฟเนอรี่ เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงที่สามารถตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมชีวเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้ไบโอโพลิส (BIOPOLIS) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ

สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด ได้ลงทุนวิจัยพัฒนาร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในต่อยอดเทคโนโลยีชีวภาพให้เป็นไบโอรีไฟเนอรี่ต่างๆ โดยมุ่งให้เกิดเป็นโมเดลตัวอย่างจากอ้อยและมันสำปะหลัง

ล่าสุดทั้งสองหน่วยงานลงทุนวิจัย 6,000 ล้านบาทระยะเวลา 3 ปี ทั้งยังมีแนวทางความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งในเยอรมนี ยุโรปและญี่ปุ่น ที่เข้ามาร่วมในอนาคต เช่น สถาบันวิจัยฟรอนโฮเฟอร์จากเยอรมนี

กลุ่มมิตรผลเป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ ที่ร่วมกันทำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ ที่ทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นกองทัพเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวทีโลก พร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการผลิตวัตถุดิบที่นำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น

วท.ยังเตรียมจะดึงเอกชนรายใหญ่เข้ามาร่วมต่อจิ๊กซอว์อีก 10 รายอาทิ ทียูเอฟ ปตท. เอสซีจี เบทาโกร ผ่านรูปแบบความร่วมงานแบบประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพของภูมิภาคในอนาคต

หวังแจ้งเกิดอุตฯอนาคต

กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและความได้เปรียบทางด้านการเกษตร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในการพัฒนา ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) โดยการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาลงทุนต่อยอดพืชเกษตรเพิ่มเติมในด้านอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ ไบโอเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหารคน อาหารสัตว์ เครื่องสำอางและยา เริ่มต้นจากกลุ่มอ้อยและมันสำปะหลัง

ปีนี้บริษัทได้ลงทุนงานวิจัยเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 1%ของรายได้จากเดิมปีละ 500 ล้านบาท เพื่อผลักดันองค์กรสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพโดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกันยังให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้นทำให้เกษตรกร จำนวนกว่าแสนคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ที่ผ่านมา มิตรผลได้พัฒนาจากหน่วยงานภายในองค์กรเอง รวมทั้งเข้าไปมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สามารถพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจน้ำตาลต่างๆ เหล่านี้ แต่ความร่วมครั้งนี้กับ วท.จะทำให้การพัฒนาทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ทำให้ประเทศสามารถจะเป็น “ไบโอฮับ” ได้ในอนาคต” กฤษฎา กล่าว