จนท.บังคับคดีจาก90ประเทศทั่วโลก เลือกไทยจัดประชุมใหญ่ครั้งแรกในเอเชีย

จนท.บังคับคดีจาก90ประเทศทั่วโลก เลือกไทยจัดประชุมใหญ่ครั้งแรกในเอเชีย

ไทยเตรียมเปิดบ้านต้อนรับเจ้าพนักงานบังคับคดีกว่า 500 คนจาก 90 ประเทศทั่วโลก ในการประชุมใหญ่ของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ที่จัดขึ้นในเอเชียเป็นครั้งแรกในต้นเดือนพ.ค.นี้

นายจิรุตถ์  อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ  ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้ร่วมกับกรมบังคับคดีและกระทรวงยุติธรรม ประสบความสำเร็จในการเชิญชวนให้จัดการประชุมคองเกรสนานาชาติกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 1-4 พฤษภาคม 2561 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และนับเป็นครั้งแรกที่เกิดการประชุมดังกล่าวขึ้นในทวีปเอเชีย เรียกชื่อว่า the 23rd International Congress of UIHJ (Union Internationale des Huissiers de Justice et Officiers Judiciaires)

1_1

“งานประชุม UIHJ มีขึ้นทุก 3 ปี เพื่อให้ประเทศสมาชิกมาประชุมหารือร่วมกันในประเด็นสำคัญ รวมถึงความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับระบบการบังคับคดีแพ่ง และสามารถรองรับกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมในยุคปัจจุบัน โดยตลอด 22 ครั้งที่ผ่านมาได้หมุนเวียนไปจัดตามประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป อเมริกา และแอฟริกา สำหรับการจัดครั้งที่ 23 ที่ประเทศไทยนี้ นับเป็นการจัดงานในทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก และครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ซึ่งคาดว่าจะมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมกว่า 500 ราย จาก 90  ประเทศทั่วโลก  จะสามารถสร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวมประเทศกว่า 42 ล้านบาท”   

การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพงานระดับนานาชาติใหม่ ๆ เป็นเครื่องสะท้อนความสามารถในการแข่งขันของประเทศและตอกย้ำการเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการจัดประชุมนานาชาติในระดับภูมิภาค ซึ่งอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศปัจจุบันขยายตัวถึงระดับกว่า 170,000 ล้านบาท และได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศยอดนิยมอันดับที่ 24 ของโลกและที่หนึ่งในอาเซียนในด้านการจัดประชุมนานาชาติ

ด้าน นายมาร์ค ชมิทซ์ รองประธานอันดับหนึ่ง สภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ผู้เสนอรายงานการประชุมคองเกรสนานาชาติกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 กล่าวว่า “นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การประชุม UIHJ ถูกจัดขึ้นในเอเชีย โดยปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพราะเป็นจุดหมายปลายทางการจัดงานไมซ์ที่ได้รับความนิยม อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อของสายการบินจากทุกประเทศทั่วโลก มีโรงแรมขนาดใหญ่และร้านอาหารหลายแห่งรองรับ และยังมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของสถานที่จัดประชุม สามารถผสมผสานการเดินทางเพื่อมาทำธุรกิจและพักผ่อนได้ในคราวเดียวกัน ทำให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของการประชุมที่สมบูรณ์แบบ ดึงดูดผู้เข้าร่วมงานได้เป็นจำนวนมาก นับเป็นการตัดสินใจถูกต้องที่เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ผนวกกับความร่วมมือของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเต็มที่จนการจัดงานบรรลุผลสำเร็จ รวมถึงการสนับสนุนจากทีเส็บที่ทำให้มั่นใจว่าผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนจะต้องจดจำประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับตลอดระยะเวลาการประชุมในประเทศไทยนี้”

การประชุมคองเกรสนานาชาติกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23 ณ ประเทศไทย จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ หลักประกันความยุติธรรมที่มั่นคงและยั่งยืน : เจ้าพนักงานบังคับคดี องค์ประกอบสำคัญของหลักธรรมาภิบาล (Guaranteeing a Secure and Sustainable Justice: The Judicial Officer, an Essential Element of Good Governance) โดยระหว่างการจัดประชุมตลอด 4 วันเต็ม จะมีการแลกเปลี่ยนแนวทางประสบการณ์ด้านการบังคับคดีระหว่างประเทศของผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 500 ราย จาก 90 ประเทศทั่วโลก พร้อมการให้องค์ความรู้จากเวทีการบรรยายหลัก รวมถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการ ตลอดจนพิธีเปิดและพิธีปิดการประชุม  

ข้อมูลประกอบ

UIHJ เป็นหน่วยงานอิสระที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2495 จาก 7 ประเทศในทวีปยุโรปที่ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่พนักงานบังคับคดีของแต่ละรัฐ จึงริเริ่มก่อตั้งสหภาพเจ้าหน้าที่พนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศขึ้น โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส การประชุม UIHJ ครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2495 ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วโลกกว่า 90 ประเทศ ประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมสมาชิกของสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระว่างประเทศ ในปี 2547 โดยมีองค์การระหว่างประเทศที่ให้ความร่วมมือ อาทิ World Bank, IMF, Hague Conference on Private International Law และ The ASEAN Secretariat เป็นต้น