ความทรงจำในภาพเก่า

ความทรงจำในภาพเก่า

ภาพยิ่งเก่า ยิ่งหายาก โดยเฉพาะภาพสมัยรัตนโกสินทร์

"""""""""""""""""""""""""""""""

ว่ากันว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบบันทึกเรื่องราว

หลักฐานที่เกิดขึ้นในอดีต จึงหายไปพร้อมๆ กับผู้คนที่ล้มหายตายจากไป  

ดังนั้นถ้าต้องการรู้เรื่องราวในอดีต จึงต้องค้นหาหลักฐานรูปแบบอื่นๆ จำพวกภาพถ่าย ภาพวาด สิ่งของเครื่องใช้ในอดีตที่บอกเล่ายุคสมัย ฯลฯ

ในแง่ภาพถ่าย มีบันทึกไว้ว่า การถ่ายรูปในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นพร้อมๆ กับการเผยแพร่ศาสนาของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสชื่อว่า ปัลเลอกัวซ์ เมื่อ พ.ศ. 2388 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ซื้อกล้องถ่ายภาพมาจากฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงลาร์นอดีใช้ในการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น

การถ่ายภาพจึงเริ่มมีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ปรากฎหลักฐานภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 รวมถึงภาพถ่ายเจ้านาย ขุนนาง สถานที่ต่างๆ ในพระนคร 

และได้มีการเก็บรักษาภาพต้นฉบับและฟิลม์กระจก ไว้ที่หอพระสมุดวชิรญาณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ  โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ทางยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นมรดกความทรงจำโลก

-1-

  “ทางเราได้เสนอความทรงจำแห่งโลกจากภาพเก่ากว่าสี่หมื่นภาพ หลักฐานมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  จนกระทั่งเลิกใช้ฟิลม์กระจก ส่วนใหญ่เป็นภาพบุคคลประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และยังมีภาพอีกเยอะที่เราไม่รู้ว่า เป็นสถานที่หรือบุคคลใด เราก็ต้องสืบค้น เพราะภาพเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจพัฒนาการของบ้านเมือง” ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เล่าในงานเสวนาเรื่อง ภาพเก่าเล่าเรื่อง มรดกความทรงจำแห่งโลก ของกรมศิลปากร

   ความนิยมในการถ่ายภาพของประชาชนทั่วไป มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปีพ.ศ.2408 โดยมีชาวอังกฤษเข้ามาเช่าตึก เปิดร้านถ่ายภาพที่ย่านถนนเจริญกรุง ตอนนั้นภาพถ่ายขนาด 4 นิ้ว จะค่าถ่ายภาพ 1 ตำลึง ส่วนภาพขนาด15 นิ้ว เสียค่าถ่ายภาพ 10 ตำลึง 

ว่ากันว่า กล้องถ่ายรูปสมัยก่อนขนาดใหญ่มาก มีขาสามขาสำหรับตั้งกล้อง และผ้าดำคลุมตัวกล้อง เพื่อไม่ให้แสงรบกวนเวลามองรูปที่ปรากฎบนกระจกรับภาพ

ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กล่าวถึง ภาพเนกาตีฟและโพสิทีฟที่ปรากฎบนแผ่นกระจกในช่วงปีพ.ศ. 2395-2472 ว่า การถ่ายรูปในยุคแรก ส่วนใหญ่เป็นการเซ็ตฉากถ่ายในสตูดิโอ 

     “เพราะภาพถ่ายฟิลม์กระจกมีความคมชัด จึงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ดีในปัจจุบัน และภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจวิถีชีวิตคนไทยมากขึ้น”

-2-

วิถีชีวิตคนไทยผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต ผู้คนสัญจรไปมาทางน้ำ ภาพถ่ายส่วนใหญ่จึงเป็นภาพชีวิตบนเรือ บ้านเรือนริมน้ำ และการละเล่นทางน้ำ 

“เมืองธนบุรีเดิมตั้งอยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ตรงวัดคูหาสวรรค์หรือที่เรียกว่า วัดศาลาสี่หน้า เมื่อรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช สมัยกรุงศรีอยุธยา โปรดให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย เดี๋ยวนี้มาถึงปากคลองบางกอกใหญ่ที่ตรงวัดอรุณราชวราราม คลองนั้นนานมากลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จึงย้ายเมืองธนบุรีมาตั้งป้อมปราการขึ้นที่ตรงวัดอรุณราชวราราม หรือที่เรียกกันว่าวัดแจ้ง” ส.พลายน้อย บันทึกไว้ใน เล่าเรื่องบางกอก

อาจารย์พีรศรี บอกว่า สถาปัตยกรรมในช่วงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนแปลงมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นพื้นถนนเริ่มทำเป็นหิน

“จากหลักฐานภาพถ่าย อาคารสมัยก่อนใช้กระเบื้องดินเผาสีส้มมุงหลังคา ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นหลากสี”

ส.พลายน้อย บันทึกไว้ว่า ถนนสมัยนั้นไม่มีการลงรากกระทุ้งดินให้แน่น เพียงเกลี่ยให้เรียบ แล้วเอาอิฐเรียงตะแคงให้ชิดกันทำตรงกลางให้นูนสองข้างถนนมีร่องสำหรับให้น้ำไหล กระทั่งมีการเปลี่ยนวิธีการทำถนนแบบตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 5

-3-

ว่ากันว่า การศึกษาภาพเก่า ไม่ได้ดูแค่บุคคลและสถานที่ ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยไม่ว่าป้ายร้านค้า ป้ายโฆษณา เฟอร์นิเจอร์ในบ้านและร้านค้า รูปภาพตกแต่งบ้าน ฯลฯ เพื่อคาดคะเนยุคสมัยและวิถีชีวิต

“สมัยก่อนข้าราชการ หรือคนต่างชาติจะนิยมถ่ายภาพหมู่นั่งเรียงกันเป็นแถวด้านนอกอาคาร และมักจะมีแขกยามใส่สายสะพายป้ายบริษัทยืนขนาบทั้งสองด้านของภาพ เราก็ต้องดูอีกว่า ในภาพนั้น คนไหนมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ ผมสนุกในการดูภาพ เพราะไม่แน่ใจว่า เป็นภาพอยู่ในช่วงต้นหรือปลายรัชกาลไหน ภาพที่ถ่ายไว้ไม่มีคำอธิบายใดๆ เราก็ต้องใช้ภาพถ่ายและแผนที่ประกอบคำอธิบาย และดูว่า ภาพนั้นน่าจะอยู่ยุคไหน” อ.พีรศรี กล่าวและบอกว่า แม้กระทั่งป้ายโฆษณาที่ปรากฎในภาพ พวกน้ำยาบ้วนปาก สบู่ ก็บอกยุคสมัยได้

“ห้างบี.กริมแอนด์โก (ตั้งอยู่มุมถนนเจริญกรุง-ถนนมหาไชย เชิงสะพานดำรงสถิตย์ หรือสะพานเหล็กบน) เป็นตึกแถวที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 สร้างปีเดียวเสร็จ และเปิดเป็นปฐมฤกษ์ในสมัยรัชกาลที่ 7"

ภาพเก่ายังบอกเล่าถึงสภาพท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี อย่างย่านธนบุรี ส่วนใหญ่เป็นเรือกสวนไร่นา มีสวนนอกหรือที่เรียกว่าบางช้าง  ส่วนสวนในเรียกว่า บางกอก 

ส.พลายน้อย บันทึกไว้ว่า “บางกอกฝั่งขวาหรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ที่ดินกลับไม่ค่อยดี เหมาะสำหรับทำนาเท่านั้น ทั้งนี้ทางฝั่งกรุงเทพฯมีชื่อเรียกว่า ทุ่ง เริ่มแต่ทุ่งพระเมรุ หรือสนามหลวง ปัจจุบัน....”

ถ้าเป็นย่านธนบุรี สถานที่ที่นิยมถ่ายภาพและมีหลักฐานยืนยันในอดีต อาจารย์พีรศรี บอกว่า บริเวณวัดประยุรวงศาวาส โบสถ์ซางตาครู้ส (โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยกุฎีจีน) และปากคลองบางกอกใหญ่ ฯลฯ

“อย่างแถวริมน้ำคลองบางหลวงจะมีบ้านพวกมิชชั่นนารีอยู่เยอะ และกลุ่มบ้านสกุลบุนนาคจะอยู่แถวๆ วัดกัลยาณมิตร ”

นี่คือ เรืื่องเล่าคร่าวๆ จากภาพเก่าที่พอค้นหาหลักฐานได้ว่า อยู่ในยุคสมัยไหน 

และยังมีภาพเก่าอีกมากมายที่ไม่รู้ว่า เป็นความทรงจำของใคร