อึ้ง! ผู้โดยสารกว่า 35% ถูกคุกคามทางเพศ

อึ้ง! ผู้โดยสารกว่า 35% ถูกคุกคามทางเพศ

อึ้ง! ผู้โดยสารกว่า 35% ถูกคุกคามทางเพศบน ‘ขนส่งสาธารณะ’

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 เมษายน 2561 ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ได้เดินทางเข้าพบนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) ที่อาคารสำนักงาน บขส. เพื่อเข้ายื่นคู่มือเผือก ซึ่งเป็นคู่มือต้นแบบการอบรมพนักงานขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถขนส่งสาธารณะ พร้อมกับร่วมกันหาทางออกร่วมกันในการป้องกันการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นบนรถทัวร์อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ยังได้นำเสนอข้อมูลการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นบนรถทัวร์ ไปพร้อมกันอีกด้วย

โดย "วราภรณ์ แช่มสนิท" ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น มีทั้งการแตะเนื้อต้องตัว การลวนลามด้วยสายตา และคำพูด ซึ่งในรถขนส่งสาธารณะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว โดยมีโอกาสเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำของผู้โดยสารด้วยกันเอง หรือพนักงานรถกับผู้โดยสาร และผู้โดยสารกับพนักงานต้อนรับบนรถ อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ปล่อยให้ผ่านไป ไม่กล้าไปแจ้งความ และไทยก็ยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติ ทางเครือข่ายฯ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับปัญหานี้ เนื่องจากได้พบ ได้ยิน ได้รับรู้การบอกเล่าจากผู้ถูกกระทำที่เป็นคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนการโพสต์เรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดีย จึงได้ร่วมกันเก็บข้อมูลโดยมีทีมนักวิชาการช่วยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เก็บผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกเพศ เพื่อดูว่าสถานการณ์หรือปัญหาเป็นอย่างไร

คุณวราภรณ์ กล่าวอีกว่า จากการเก็บข้อมูลกว่าปีเศษ ในภาพรวมพบว่า คนทุกเพศ กว่า 35 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่า 1 ใน 3 บอกว่าตัวเองเคยเจอเหตุการณ์ในลักษณะแบบนี้ ขณะใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ แต่ผู้หญิงเป็นเป้าการคุกคามทางเพศมากที่สุด โดยมีผู้หญิงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งที่ถูกคุกคามทางเพศ เมื่อถามถึงเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่ มากกว่าครึ่ง คือ 52 เปอร์เซนต์ ตอบว่า เป็นเหตุที่เกิดในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นปัญหากระทบกับคนจำนวนมาก ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ในงานวิจัยเมื่อมีการถามว่า เป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์การถูกคุกคามมากน้อยแค่ไหน 1 ใน 3 ตอบว่าเคย และเมื่อถามว่าพบแล้วทำอย่างไร 13 เปอร์เซ็นต์บอกว่านิ่งเฉย หลีกเลี่ยง เดินหนี แต่ก็มีอีก 28 เปอร์เซ็นต์ ที่ตอบว่าแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำรถให้เข้ามาดูแล หรือตรวจสอบทันที

"จากการทำวิจัยพบว่า สำหรับเหตุการณ์ลวนลามดังกล่าว มักที่เกิดขึ้นบนรถ ขสมก. มากที่สุดถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีจำนวนผู้ใช้บริการเยอะที่สุด รองลงมาเป็นมอเตอร์ไซค์ 11.4 เปอร์เซ็นต์ แท็กซี่ 10.9 เปอร์เซ็นต์ รถตู้ 9.8 เปอร์เซ็นต์ บีทีเอส 9.6 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วันนี้จึงมาขอความร่วมมือ และข้อเสนอแนะกับทาง บขส. ซึ่งควบคุมดูแลรถเป็นหมื่นคัน มีผู้โดยสารต่อวันกว่า 8 หมื่นคน เพื่อหาทางป้องกันและป้องปราม สิ่งสำคัญคือสร้างความตระหนักรู้ให้คนได้ทราบสิทธิของตนเมื่อถูกคุกคามทางเพศ ต้องมีช่องทางแจ้งร้องเรียน รวมถึงจัดอบรมให้พนักบนรถ บขส.ช่วยระวังสอดส่อง ป้องกันไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศ" คุณวราภรณ์ กล่าว

ทางด้าน คุณรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะจำนวนไม่น้อย แต่ผู้โดยสารอาจไม่ตระหนักว่า การคุกคามทางเพศคืออะไร จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำโครงการ เพื่อหนึ่งอยากสร้างความตระหนักให้ประชาชน สองการลดการคุกคามทางเพศได้ เพื่อนร่วมทางต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา และต้องเผือก คือเข้าไปแทรกแซง หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น

สามการมีมาตรการกลไกจากภาครัฐ ช่องทางการร้องเรียนขอความช่วยเหลืออย่างมีระบบ ทางรัฐตอบสนองอย่างรวดเร็วว่องไว หรือเครื่องมือ เช่น กล้องวงจรปิด ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางโครงการจึงจัดทำขึ้น เพื่อให้เห็นว่าคนโดนคุกคามมีจำนวนเท่าไหร่ ลักษณะแบบไหน พฤติกรรมแบบใด ใครเป็นเป้า ทำให้เห็นว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น เป็นตัวสะท้อนว่ามีปัญหานี้อยู่ และน่าจะได้รับการแก้ไข เมื่อมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่าโอกาสเสี่ยงการถูกคุกคามทางเพศมีมากบนรถสาธารณะ วันนี้จึงมามอบคู่มือเผือก พร้อมหารือแนวทางป้องกันและป้องปรามกับทาง บขส.

ขณะที่ นายจิรศักดิ์ บอกว่า รู้สึกยินดีที่มีหน่วยงานภายนอกมาพบปะ บขส. เพื่อหาแนวทางป้องกันการถูกคุกคามทางเพศในรถสาธารณะ และทำข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกัน เพราะปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างชัดเจน และขอบคุณเครือข่ายฯสำหรับข้อเสนอแนะ ตลอดจนการฝึกอบรมให้พนักงาน บขส. การให้องค์ความรู้ การตระหนักถึงสิทธิเมื่อถูกคุกคามทางเพศ โดยทาง บขส.พร้อมให้ความร่วมมือ ไม่มีข้อขัดข้อง ตลอดจนข้อเสนอที่ให้ติดกล้องวงจรปิดบนรถทัวร์ รถตู้บขส. ก็จะรับพิจารณา และเร่งรัดพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการป้องปราม รวมถึงการป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นบนรถโดยสารสาธารณะ และหากเกิดเหตุขึ้นก็จะได้มีหลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิด


อึ้ง! ผู้โดยสารกว่า 35% ถูกคุกคามทางเพศ