‘เฟซบุ๊ค-ไมโครซอฟท์’ ผนึก 32 บ.ใหญ่ต้านโจมตีไซเบอร์

‘เฟซบุ๊ค-ไมโครซอฟท์’ ผนึก 32 บ.ใหญ่ต้านโจมตีไซเบอร์

เหล่าบริษัทชั้นนำด้านการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตกว่า 30 ราย รวมถึง “เฟซบุ๊ค” และ “ไมโครซอฟท์” ให้คำมั่นว่าจะต่อต้านการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด พร้อมปกป้องลูกค้าทั้งหมดโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ประเทศ หรือแรงจูงใจในการก่อเหตุโจมตี

บริษัทด้านเทคโนโลยีและการรักษาความปลอดภัยระดับโลกรวม 34 รายได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันเรื่องเทคโนโลยีความปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Tech Accord) ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐ เมื่อวันอังคาร (17 เม.ย.) โดยบริษัทกลุ่มใหญ่ที่สุดเห็นพ้องต้องกันที่จะปกป้องลูกค้าทุกคนทั่วโลกจากการโจมตีขององค์กรและประเทศต้นทางอาชญากรรมทางไซเบอร์

บริษัททั้ง 34 แห่ง ซึ่งรวมถึง เอบีบี, อาร์ม, ซิสโก้, เฟซบุ๊ค, เอชพี, เอชพีอี, ไมโครซอฟท์ คอร์ป, โนเกีย, ออราเคิล และเทรนด์ ไมโคร เป็นตัวแทนของผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในระดับโลก

นายแบรด สมิธ ประธานของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า การโจมตีที่รุนแรงหลายครั้งเมื่อปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถรับมือได้เพียงลำพัง แต่เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน

“ข้อตกลงนี้จะช่วยให้เราก้าวไปสู่ขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการทำงานร่วมกันและปกป้องลูกค้าทั่วโลก”

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ดังนี้

ยกระดับการป้องกัน

บริษัทเหล่านี้จะยกระดับการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยตระหนักว่าทุกคนสมควรได้รับการปกป้อง บริษัทเหล่านี้จึงให้คำมั่นว่าจะปกป้องลูกค้าทั้งหมดทั่วโลก โดยไม่เกี่ยงแรงจูงใจในการก่อเหตุโจมตีทางออนไลน์

ไม่โจมตี

บริษัทเหล่านี้จะไม่ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลใดก็ตามในการเปิดฉากโจมตีทางไซเบอร์ รวมทั้งต่อต้านการใช้ในทางที่ผิดหรือการแสวงหาผลประโยชน์จากผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท ทั้งในส่วนของการพัฒนา การออกแบบ และการจำหน่ายเทคโนโลยีทุกขั้นตอน

เสริมสร้างขีดความสามารถ

บริษัทเหล่านี้จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับนักพัฒนา ผู้ประกอบธุรกิจ และบุคคลทั่วไปที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ซึ่งครอบคลุมถึงการร่วมกันกำหนดแนวทางการรักษาความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่บริษัทสามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตน

ดำเนินงานร่วมกัน

บริษัทเหล่านี้จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม พร้อมกับสร้างความร่วมมือครั้งใหม่ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการภายในอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และในหมู่นักวิจัยด้านความมั่นคง เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเทคนิค ร่วมกันเปิดโปงช่องโหว่ แลกเปลี่ยนข้อมูลภัยคุกคาม ตลอดจนลดการโจมตีด้วยโค้ดอันตราย (Malicious Code) ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์

ด้านนายเควิน ซิมเซอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของเทรนด์ ไมโคร กล่าวว่า บริษัทเห็นผลกระทบของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในโลกแห่งความเป็นจริงกันมาแล้ว ในฐานะอุตสาหกรรม ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันต่อสู้กับอาชญากรไซเบอร์ และยับยั้งการโจมตีที่จะสร้างความเสียหายมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ก็คือบรรดาธุรกิจและองค์กรทุกขนาด บริษัทวิจัย จูนิเปอร์ รีเสิร์ช คาดการณ์ว่า การโจมตีทางไซเบอร์จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 8 ล้านล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2560-2565 

ที่ผ่านมา การโจมตีทางไซเบอร์ได้ทำให้บริษัทขนาดเล็กต้องปิดตัวลง โรงพยาบาลต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไป หน่วยงานรัฐต้องหยุดให้บริการ นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความติดขัดและความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยอีกมากมาย 

นางแคโรลิน เฮอร์ซอก ที่ปรึกษาทั่วไปของอาร์ม กล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยปกป้องอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกว่า 1 ล้านล้านเครื่องที่คาดว่าจะมีการใช้ใน 20 ปีข้างหน้า โดยอาศัยทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และแนวคิดของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อร่วมกันวางรากฐานที่เชื่อถือได้ให้กับผู้ใช้งานเทคโนโลยี ที่จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากโลกที่มีความปลอดภัยในการเชื่อมต่อมากขึ้น