เสริมทักษะ ‘สะเต็ม’ สร้างแต้มต่อ’ตลาดแรงงาน’

เสริมทักษะ ‘สะเต็ม’  สร้างแต้มต่อ’ตลาดแรงงาน’

ในอนาคตอันใกล้ความเปลี่ยนแปลงต่อตลาดแรงงานจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อมนุษย์ต้องทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ขณะเดียวกันก้าวไปสู่ยุค “AI Everything”

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ผลวิจัยโดยบริษัทวิจัยไอดีซีเผยว่า 25% ของตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับเทคนิค ต้องการบุคลากรที่มีทักษะการวิเคราะห์และทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยองค์กรทำงานกับข้อมูลอันเป็นสินทรัพย์ของทางบริษัท และไม่ได้จำกัดเฉพาะถึงสายงานผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลอีกต่อไป

ในทิศทางเดียวกัน เริ่มเห็นโมเดลธุรกิจในปัจจุบันต่างดึงเอาความสามารถของเอไอ วีอาร์ เออาร์ และหุ่นยนต์เข้ามาช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะทั้งในอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมถึงธุรกิจร้านกาแฟที่เริ่มนำร่องนำ “โรบอต บาริสต้า (Robot Barista)” มาทำซีอาร์เอ็ม(Customer Relationship Management) ไปจนถึงการทำ “Forecast Management” ในธุรกิจบริการคมนาคมขนส่งสาธารณะ ด้วยการใช้แอพ passenger radar เพื่อวิเคราะห์หาโลเคชั่นที่น่าจะมีผู้โดยสารจากสภาพอากาศ เวลา และสถิติการเดินทางของชาวเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วที่ไต้หวัน

ไอดีซีคาดว่าภายในปี 2563 ภูมิภาคเอเชียจะเป็นตลาดที่เทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตไปได้ไกลมากที่สุด โดยมีมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันส่งผลเป็นวงกว้างต่อตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ 

“การเข้ามาของเหล่าเอไอไม่ได้มีผลต่อจำนวนคนตกงานในตลาดแรงงาน แต่ต่อไปมนุษย์จะถูกขยับตำแหน่งไปในสายงานวิเคราะห์ผสานความครีเอทีฟมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงอาชีพเกิดใหม่” 

อย่างเช่น อาชีพผู้ฝึกเอไอ (AI Trainers) ที่มีหน้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมข้อมูล ทำความสะอาดข้อมูล ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เพื่อออกแบบระบบงาน คอยแก้ไขข้อผิดพลาดของเอไอ รวมถึงปรับพฤติกรรมของเอไอให้เหมาะสม

ตำแหน่ง Explainers ทำหน้าที่อธิบายกลไกการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ในส่วนที่เป็น black box รวมถึงเลือกใช้ระบบเอไอให้เหมาะสมกับประเภทงานต่างๆ และตำแหน่ง Sustainers ทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้ปัญญาประดิษฐ์ทำงานอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ ข้อกฎหมายและจริยธรรมที่เหมาะสม

สะเต็มปั้นกำลังคนแห่งอนาคต

ปัจจุบันบริษัทต่างพบกับปัญหาบุคลากร โดยกลายเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล รวมถึงสถานการณ์การลดจำนวนแรงงานส่วนเกินที่ก่อต้นทุนให้กับองค์กรเนื่องจากมีระบบเข้ามาทดแทนได้ เมื่อความต้องการของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่ากระบวนการผลิตบุคลากรและแรงงานก็จำเป็นต้องเปลี่ยนเช่นกัน

สะเต็มศึกษา (STEM) ทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 จึงกลายเป็นความคาดหวังของภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ ต่อการผลิตบุคลากรยุคใหม่ โดยวิธีการสอนจะผนวกองค์ความรู้ทั้งสี่ด้าน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าไว้ด้วยกัน คาดว่าระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มจำนวนเด็กเรียนในสายวิทย์-คณิตมากขึ้น ทั้งแง่ปริมาณและคุณภาพ ปัจจุบันทักษะสะเต็มยังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานระดับโลกด้วย 

รายงาน “Workforce of the future – the views of 10,000 workers” โดยพีดับเบิลยูซีเผยว่า จำนวนผู้ถูกสำรวจเพียง 53% ที่มั่นใจว่าตนเองมีทักษะด้านนี้เพียงพอ สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐและภาคธุรกิจยังต้องผลักดันให้พนักงานเกิดองค์ความรู้ในระดับที่ใช้งานได้จริง

สำหรับประเทศไทย การจัดการศึกษาแบบสะเต็มเริ่มต้นโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตอบรับกับการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เผยว่า ตลาดแรงงานไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องการบุคลากรในสาขาสะเต็มเพิ่มขึ้นเป็น 1:1 ล้านคน ทำให้ในช่วงปีที่ผ่านๆ มาการสะเต็มศึกษา กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึง และนำมาใช้ในวงการการศึกษามากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไทยยังมีแนวคิดสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ด้วยการสนับสนุนการศึกษาด้านเทคโนโลยีในเชิงปฏิบัติ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและรองรับการเจริญเติบโตทาง S-Curve ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ในฝั่งธุรกิจเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่มีและรู้ว่ากระแสการทำงานที่เป็นที่ต้องการในตลาด อย่างเอเซอร์นำระบบซีพีเอฟ (Acer CloudProfessor) มาช่วยต่อยอดระบบการศึกษาทั้งในฝั่งโรงเรียนพิเศษและหน่วยงานทางราชการ โซลูชั่นดังกล่าวจะสอนให้ผู้ใช้งานเรียนรู้ระบบการทำงานของไอโอทีผ่านคลาวด์ทีละขั้นตอน เพื่อใช้หลักการควบคู่ไปกับจินตนาการ นำไปสู่การออกแบบระบบการทำงานต่างๆ

‘สมาร์ทพีเพิล’หนุนสมาร์ทซิตี้

ผู้บริหารเอเซอร์เปิดมุมมองว่า การพัฒนาสมาร์ทซิตี้มีที่มาจากความต้องการแก้ปัญหาเมืองในด้านต่างๆ พร้อมกับเสริมภูมิคุ้มกันให้กับพลเมืองในฐานะผู้ดูแลและผู้ใช้งานเทคโนโลยีที่เติบโตไปอย่างรวดเร็ว การสร้างความคุ้นชินให้เกิดขึ้นในสังคมคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา แน่นอนว่าจะได้เห็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์, ระบบสั่งการด้วยเสียง, รีโมท คอนโทรล, ไอโอที, ภาพ 3 มิติ, ภาพเสมือนจริง, เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ และการทำงานผ่านแอพพลิเคชั่น กล่าวคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่

"การศึกษาสะเต็มจะช่วยยกระดับคุณภาพทรัพยากรบุคคล คาดหวังที่จะเห็นตำแหน่ง เนื้องานและเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้น ลดเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนงานเพื่อปรับฐานเงินเดือนในกลุ่มแรงงานเจนวายในปัจจุบัน" 

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจที่ประเมินว่า คุณภาพชีวิตเงินเดือนในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างแย่ รวมถึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงไอทีจะต้องได้รับการก้าวข้าม

อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นอีกปัจจัยที่ต้องมอง จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผกผันกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ปีต่อปี ฉะนั้นบุคลากรรุ่นหลังๆ ที่ตามมาจำเป็นต้องสร้างมูลค่าของงานและจำนวนรายได้ต่อหัวประชาชาติที่เพิ่มมากขึ้น และสะเต็มจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถช่วยเพิ่มการสร้างสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ อีกทางหนึ่งช่วยให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) 

“เมืองอัจฉริยะจึงต้องการพลเมืองที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและฉลาดทันระบบเพื่อใช้งาน ควบคู่ไปกับยกระดับชีวิตประชากรทั้งในแง่สังคมและเศรษฐกิจ” นิธิพัทธ์ กล่าว