สงกรานต์คึกคัก ใช้จ่ายสะพัด 1.3 แสนล้านบาท

สงกรานต์คึกคัก ใช้จ่ายสะพัด 1.3 แสนล้านบาท

ม.หอการค้าไทย ประเมินใช้จ่ายสงกรานต์ปีนี้ 1.32 แสนล้านบาท พุ่งสูงสุดรอบ 13 ปี เหตุวันหยุดยาวทำคนวางแผนท่องเที่ยวและใช้จ่าย ชี้การบริโภคพึ่งกลุ่มชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายเทศกาลสงกรานต์ 2561 ที่ได้จากการสำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,222 ตัวอย่าง ในวันที่ 29 มี.ค.-6 เม.ย. 2561 คาดว่าจะการใช้จ่ายเงินในช่วงสงกรานต์ 1.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.50% เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 โดยมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดรอบ 13 ปี หรือตั้งแต่มีการสำรวจความคิดเห็นในปี 2549

สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้การใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ทำสูงสุด เพราะรัฐบาลประกาศให้มีวันหยุดยาว 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-16 เม.ย. 2561 แต่ภาคเอกชนบางแห่งประกาศให้หยุดถึงวันที่ 17 เม.ย. 2561 และเมื่อรวมกับรอยต่อวันจักรี 6 เม.ย.2561 ทำให้มีวันหยุดยาวมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนวางแผนการใช้จ่ายทั้งการเดินทางท่องเที่ยว ทำบุญ และซื้อสินค้ามากขึ้น โดยสะท้อนจากการสอบถามถึงแผนการใช้จ่ายเรื่องการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ระบุว่าไปท่องเที่ยว 81.5% โดยวางแผนท่องเที่ยวในประเทศ 32.9% มากสุด มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศคนละ 3,991 บาท และเที่ยวต่างประเทศคนละ 76,800 บาท

ส่วนแหล่งท่องเที่ยวในประเทศส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปเที่ยวจังหวัดภาคกลางมากสุด 62.8% ได้แก่ อยุธยา ลพบุรี ชลบุรี นครนายก รองลงมาภาคใต้ 14% เช่น ภูเก็ต สงขลา ตรัง ภาคเหนือ 13.4% เช่น เชียงใหม่ น่าน แพร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.7% เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา หนองคาย

นอกจากนี้ผลสำรวจบุคคลสำคัญที่อยากรดน้ำดำหัว พบว่าในกลุ่มนักการเมืองอันดับ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รองลงมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายทักษิณ ชินวัตร ส่วนดาราที่ต้องการเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยมากสุดฝ่ายชาย คือ โป๊ป ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ รองลงมา ณเดชย์ คูกิมิยะ และปั่นจั่น ปรมะ อิ่มมโนทัย และดาราฝ่ายหญิง คือ เบลล่า-ราณี แคมเบล รองลงมาใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ และอั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การใช้จ่ายช่วงสงกรานต์แม้จะคึกคักแต่ถ้าประเมินด้านเศรษฐกิจพบการใช้จ่ายกระจุกตัวในคนชั้นกลางและรายได้สูงที่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ซึ่งสะท้อนจากการใช้เงินเดือนมาเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินออม ส่วนกลุ่มคนรายได้น้อยยังได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำเกือบทุกรายการจึงเป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข โดยศูนย์พยากรณ์ฯยังคงจีดีพีปีนี้ขยาย 4.2-4.6% ในขณะที่จีดีพีไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 4% และไตรมาส 2 ขยายตัว 4.2-4.4% และประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเห็นสัญญาณฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำ คือ การอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าระบบเศรษฐกิจตามแผน และเร่งใช้งบกลางปี 1.5 แสนล้านบาทที่จะเข้าไปช่วยเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนตามแผนการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตร ในขณะที่การท่องเที่ยวจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากละครดังที่ทำให้คนนิยมไทยแต่งชุดไทยไปเที่ยวในเมืองหลักและเมืองรอง และมีการทำบุญมากกว่าที่จะสังสรรค์ ดังนั้นการซื้อสินค้าสุราน่าจะลดลง