สงกรานต์หน้าวัง พื้นที่วัฒนธรรมร่วมสมัย

สงกรานต์หน้าวัง พื้นที่วัฒนธรรมร่วมสมัย

เบื้องหลังภาพศิลปะบนกำแพงของบรรดาออเจ้า คือเรื่องเล่ามีชีวิตของประชาคมวัฒนธรรมหน้าพระลาน ท่าช้าง ท่าพระจันทร์

ภาพหมื่นสุนทรเทวา แม่หญิงการะเกด พี่ผินพี่แย้มในบรรยากาศวันสงกรานต์ บนกำแพงของมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ กลายเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้มาหยุดถ่ายภาพกันอย่างคึกคัก

แต่รู้หรือไม่ว่า งานศิลปะเหล่านี้เป็นเพียงสีสันส่วนหนึ่งของ ‘สงกรานต์หน้าวัง’ ซึ่งเป็นรูปธรรมของการพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรม ตามแนวคิดเศรษฐกิจวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของภาคประชาสังคม ศิลปิน ชุมชนและสถาบันการศึกษา และแม้ว่างานครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกและจัดเป็นระยะเวลาสั้นๆ คือระหว่างวันที่ 6-8 เมษายนที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับการตอบรับเกินคาด

อุดมพร สนธิแก้ว ตัวแทนประชาคมท่าพระจันทร์ บอกว่า “การจัดงานครั้งนี้ประชาคมท่าช้าง ท่าพระจันทร์ หน้าพระลาน ได้นำวัฒนธรรมเก่าๆ ที่เคยทำกันมา อย่างเช่นการนวด หรืออาหารการกินมาร่วมออกร้าน ซึ่งสมัยก่อนอาหารไทยของท่าพระจันทร์เป็นที่รู้กันว่าอร่อยมาก มีแต่คนอยากทาน แต่ตอนนี้หาทานไม่ได้แล้ว เช่น ข้าวแช่ ขนมไทยอย่างลืมกลืน ถ้วยฟู เล็บมือนาง และอีกหลายอย่าง”

นอกจากนี้ยังมีการสาธิตทำลูกประคบสมุนไพร ร้อยมาลัยดอกไม้สด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนในย่านนี้ที่นับวันจะหาคนสืบทอดยากขึ้นทุกที การจัดงานดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้คนในชุมชนย่านท่าช้าง ท่าพระจันทร์ และหน้าพระลานได้มาร่วมพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อฟื้นรากทางวัฒนธรรมของตนเอง

“งานนี้ก็พยายามสร้างให้ประชาคมได้กระเตื้องตัวเองจากการที่เงียบหายไปนานมาก ให้รู้จักการทำงานในลักษณะนี้ ให้อดีตกับปัจจุบันประสานกันได้” อุดมพร กล่าวถึงความร่วมมือที่เกิดขึ้นหลังจากได้ทำงานร่วมกันมากว่า 1 ปี ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนฯ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

“คอนเซ็ปต์ของโครงการนี้คือ เราต้องการสร้างเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เราก็เลยมาออกแบบกรอบแนวคิดของการวิจัยใหม่ โดยใช้คอนเซ็ปต์ที่บอกว่า สร้างคุณค่า สร้างมูลค่า สร้างแรงบันดาลใจ

สร้างคุณค่า นั่นก็คือ เราไปสืบค้นอัตลักษณ์ชุมชน รากของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตในพื้นที่ สร้างมูลค่าคือ เอาออกมานำเสนอ เอาออกมาแลกเปลี่ยน และสร้างแรงบันดาลใจก็คือ นำกลับเข้ามาให้ประชาชน ให้ผู้มีส่วนได้เสีย ให้เยาวชน ให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม แล้วกลับไปเก็บรักษา กลับไปอนุรักษ์” ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สกว. กล่าวถึงแนวคิดในการทำงาน โดยผ่านกลไกที่เรียกว่า ‘การพัฒนาเชิงพื้นที่’ และ ‘ประชาคมทางวัฒนธรรม’

“ประชาคมวัฒนธรรม ที่สำคัญคือประชาชนคนในพื้นที่ ระบบการบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาคมซึ่งเป็นภาคเอ็นจีโอ ภาคส่วนประชาสังคม และส่วนที่เหลือคือภาครัฐและเอกชน ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม แต่ว่าในแต่ละบริบทของพื้นที่่จะไม่เหมือนกัน เราก็เลยเริ่มต้นจาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย...”

โดยกระบวนการวิจัยจะเริ่มจากการไปสืบค้นทุนเดิม ทั้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและกลไกหรือประชาคมในแต่ละพื้นที่ จากนั้นจึงนำมาประกอบกันเป็นเนื้อหาและสร้างสิ่งที่เรียกว่าแผนที่ทางวัฒนธรรม

“ผลที่ได้เราเรียกมันว่าพื้นที่วัฒนธรรม ผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น เส้นทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลาดชุมทาง ผลิตภัณฑ์ชุมชน แล้วแต่บริบท” ดร. กิตติ ให้ข้อมูล

สำหรับพื้นที่ทางวัฒนธรรมทั้ง 6 แห่งภายใต้โครงการดังกล่าว ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนไทยอง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่, วิถีไทลื้อ จังหวัดพะเยา, ผ้าทอมือย้อมครามและสีธรรมชาติ จังหวัดสกลนคร, ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี, การค้าผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรม อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

และสุดท้ายคือ พื้นที่วัฒนธรรมเศรษฐกิจวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ถนนหน้าพระลาน-มหาราช-พระจันทร์-พระอาทิตย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นต้นทางของการจัดกิจกรรมสงกรานต์หน้าวัง ที่ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ

รศ.ดร. สุพรรณี ฉายะบุตร ผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการฯ เล่าถึงกระบวนการทำงานเบื้องหลังว่า ที่เลือกเส้นทางนี้เพราะชุมชนโดยรอบมีความรู้ในเชิงช่างรวมถึงการทำอาหารตำรับชาววังสืบทอดมาแต่โบราณ บวกกับการที่ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยทางศิลปะ ย่อมสามารถนำมาผสมผสานให้เกิดการพัฒนาในเชิงสร้างสรรค์ได้

“เราก็ไปคุยกับหลายๆ กลุ่ม จนได้กลุ่มที่น่าจะร่วมมือกันได้ ซึ่งงานครั้งนี้ก็มีกลุ่มอาหาร กลุ่มสมุนไพร กลุ่มดนตรีดุริยประณีต แล้วก็ศิลปากรเองเขียนภาพบนกำแพงเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์” อ.สุพรรณี บอก และชี้ถึงความแตกต่างของพื้นที่นี้กับพื้นที่ทางวัฒนธรรมอื่นๆ ในต่างจังหวัดว่า

“ถนนเส้นนี้ผลประโยชน์สูงมาก นักท่องเที่ยวก็มาตลอดเวลา เรียกว่าเศรษฐกิจเขาดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปช่วยเขาก็อยู่ดีกินดี เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ห่วงเรื่องรายได้ของพวกเขา แต่ทำอย่างไรที่มันจะเกิดการอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน แล้วสร้างอะไรที่ดีขึ้น มีอิมแพคที่น่าสนใจมากขึ้น มากไปกว่าเรื่องของผลประโยชน์อย่างเดียว”

ข้อนี้ทำให้ทีมวิจัยต้องใช้การพูดคุยปรึกษาหารือตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ก่อนจะออกแบบกิจกรรมซึ่งยังรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้และต่อยอดให้เกิดมูลค่าต่อไป

“เป้าหมายสำคัญคืออยากให้เกิดประชาคมที่สามารถทำงานร่วมกันได้ แล้วเขาเป็นคนบอกว่าพื้นที่อยากจะทำอะไร ทุกวันนี้ภาครัฐจะเป็นคนบอกว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้นะแล้วคนพื้นที่มาร่วม มันก็กลายเป็นรัฐจัดงานตลอด อยากให้ชุมชนเป็นคนริเริ่มด้วยตนเอง เพราะถ้าคนในพื้นที่ไม่เห็นคุณค่ามันไม่สามารถเอาไปต่อยอดได้” อ.สุพรรณี ย้ำ

ด้วยเหตุนี้งานสงกรานต์หน้าวังจึงไม่ใช่แค่อีเว้นท์ถ่ายรูป แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นประชาคมวัฒนธรรม เพื่อนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน ดร.ธนภน วัฒนกุล นักวิจัย บอกถึงความคาดหวังว่า

“ตั้งใจจะจัดงานในช่วงนี้ทุกปี ให้คนรู้ว่าก่อนจะถึงสงกรานต์ต้องไปหน้าวังนะ เขามีของให้ฉันเตรียม น้ำปรุง น้ำอบ พวงมาลัย ข้าวแช่ เสื้อลายดอก ซึ่งต่อไปเด็กรุ่นใหม่ก็อาจออกแบบเสื้อสงกรานต์ในยุคของเขา แต่ยังมีเรื่องลวดลายแบบเดิมหรือการตัดเย็บแบบเดิมก็แล้วแต่ ต่อไปอาจจะมีของ เช่น น้ำปรุง เคยอยู่ในขวดแบบนี้ ถ้าถามว่าอนาคตต้องการอย่างไร ผมต้องการให้คนเดินเข้ามามีทางเลือก ถ้าฉันอยากได้น้ำปรุงรูปแบบอดีตเราก็มี อยากได้แบบใหม่ แพทเทิร์นฟังก์ชั่นใหม่แต่เป็นน้ำปรุงแบบเดิมก็มีนะ มันก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มีความร่วมสมัย นี่คืองานที่เราต้องการจัดขึ้นมา เป็นงานวิจัยทางวัฒนธรรม ไม่ใช่วิจัยว่าอดีตเป็นอย่างไร แต่เราวิจัยว่าที่มันมีอยู่จะทำอย่างไรให้เกิดมูลค่า เรียกว่าเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบันแต่ยังรักษามันไว้”

 เพราะผลลัพธ์ที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่จำนวนคนเข้าชมหรือยอดแชร์ภาพออเจ้าบนกำแพง แต่เป็นการถักทอให้ผู้คนเข้ามาร่วมกันพัฒนาเมือง ผ่านกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน