“คิง ฟรุทส์” กล้วยหอมท้องร่อง สู่โมเดลเกษตรแปลงใหญ่

“คิง ฟรุทส์” กล้วยหอมท้องร่อง สู่โมเดลเกษตรแปลงใหญ่

ปทุมธานีภูมิศาสตร์เกษตรท้องร่อง จากคลองส่งน้ำระพีพัฒน์ กำเนิด “กล้วยหอมทอง” สายพันธุ์พิเศษ ภูมิความรู้เกษตรฯของสองสามีภรรยาบริหารพื้นที่กว่า4,000ไร่ ก่อตั้ง “คิง ฟรุทส์” ตัวกลางรวบรวมผลผลิตกระจายสู่ตลาด ยื่นขอจด GI จุดขายคุณค่ากล้วยพันธุ์เลิศ

คลองระพีพัฒน์” คลองขุดเมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 เพื่อทำการเกษตร ปลูกข้าว พืชต่างๆรอบๆ ชานเมืองกรุงเทพฯ พื้นที่ราบลุ่มครอบคลุมพื้นที่ อยุธยา และปทุมธานี จึงกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของคนไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ แร่ธาตุอาหารบนผืนดินแห่งนี้ เหมาะสมกับการปลูกพืชหลากหลายชนิด ความพิเศษอยู่ที่รูปแบบการปลูกพืชแบบยกท้องร่อง มีน้ำผ่าน โดยมีคลองส่งน้ำมาถึงเรือกสวน ทำให้ผลิตผลเกษตรจากท้องร่องในพื้นที่ราบลุ่มจากคลองระพีพัฒน์ได้ผลผลิตที่มีความเป็นเลิศ แตกต่างจากพื้นที่อื่น

เกรียงศักดิ์ วิเลปะนะ ทายาทรุ่นที่3 ลูกหลานเกษตรกร เล่าว่า ครอบครัวทำเกษตรปรับเปลี่ยนพืชมาหลายชนิด ล่าสุดในปี 2543 ผลผลิตส้มเกิดโรคระบาดทั่วย่านรังสิต ชาวสวนท้องร่องจึงหันมาปลูกพืชชนิดอื่น เช่น พืชผักสวนครัว

จนกระทั่งปี 2548 จุดเปลี่ยนของเกรียงศักดิ์ และภรรยา (เสาวณี วิเลปะนะ) กรรมการผู้จัดการ บริษัทคิง ฟรุทส์ นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรบางพระ (เทคโนโลยีภาคตะวันออก) ที่ตอนนั้นยังเป็นมนุษย์เงินเดือน อยากงัดภูมิความรู้มาพัฒนาสวนเกษตรของพ่อ จึงเริ่มปลูกกล้วยหอมเริ่มต้นบนเนื้อที่ 30 ไร่ ในช่วงที่ยังทำงานประจำ

ด้วยความเข้าใจวังวนปัญหาของเกษตรกรไทย ปลูกมาแล้วขายไม่ได้ ไม่มีตลาด ราคาขึ้นๆ ลงๆ ตามสภาพ เพราะไม่ได้ขายเอง เขาและภรรยาจึงร่วมกันศึกษาเส้นทางตลาดปลูกเองขายเอง เริ่มต้นจากตลาดสี่มุมเมือง ขยายไปยังตลาดไท จนเริ่มยึดหัวหาด เป็นชาวสวนที่เจรจาต่อรองกับตลาด ขายเองส่งเอง รับรองความต้องการได้อย่างสม่ำเสมอ

ปริมาณการขยายและพื้นที่ปลูกกล้วยหอมเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยเป็นพันไร่ โดยขอเช่าที่ดินข้างเคียงเพิ่มเพื่อปลูกกล้วยหอม ทำให้มีรายได้ประจำเข้ามาทุกเดือน

ประสบการณ์การขายเริ่มต้นจากตรงนั้น ค่อยๆเรียนรู้การต่อรอง หาตลาดจากตลาดสี่มุมมองไปตลาดไท

อีกจุดพลิกเกิดขึ้น เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ เบี้ยวหนี้ เกือบสามแสนบาท เพราะขายระบบเงินเชื่อ ธุรกิจเจ็บหนักทำให้ต้องหาตลาดใหม่ โดยมองข้ามช็อทไปที่การนำกล้วยหอมขึ้นห้างโมเดิร์นเทรด พร้อมกับตั้งชื่อบริษัท คิง ฟรุทส์ โดยช่องทางการตลาดนี้ถือว่าคุ้มค่ากับการดำเนินการ เพื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง จนต้องขยายสวนไปกว่า 3,000 ไร่ และขยายเครือข่ายผู้ปลูกกล้วยหอม เพื่อเป็นตัวกลางในการส่งต่อความรู้การผลิตกล้วยหอมมาตรฐาน ไม่แย่งกันขาย แต่มีคิง ฟรุทส์ คอยบริหารจัดการทำตลาด นำผลผลิตไปกระจายให้อย่างทั่วถึงทั้งในโมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงบางสายการบินที่ส่งให้เฉพาะระดับพรีเมี่ยมเกรดA ติดต่อกันมากกว่า 4 ปี

ปัจจุบัน คิง ฟรุทส์ มีเครือข่ายเกษตรกร ที่พัฒนาโมเดลเป็นนาแปลงใหญ่เครือข่ายปลูกกล้วยหอมในพระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายกและกำแพงเพชร อีกกว่า 1,000 ไร่ ถือเป็นเครือข่ายปลูกกล้วยหอมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“เกษตรกรเป็นรายเล็กต่อรองไม่ได้ จึงต้องรวมแปลงการผลิตสินค้ามีคุณภาพ มีตลาด และการบริหารจัดการตลาด”

ไม่จบแค่นั้น เขายังเป้าหมายภายใน 3 ปี (ปี 2561-2563)จะมีพื้นที่ปลูกกล้วยเพิ่มเป็น 10,000 ไร่ ด้วยจิตวิญญาณที่เชื่อว่าเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่อับจน สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวและอยู่รอดได้ หากคิดอย่างนักธุรกิจ

“ผมต้องการพลิกชีวิต พี่น้องเกษตรกรให้เป็นมืออาชีพเกษตรกรจึงต้องทำแบบธุรกิจ หากทำอย่างเกษตรผลิตอย่างเดียว จนทั้งชาติ”เขาให้มุมมองการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

เกษตรกร การตลาด และการผลิต หากต่างคนต่างทำไม่รวมกันก็ไปไม่ได้ จึงต้องรวมกันสร้างกลไกการตลาดแข็งแรง เป็นธุรกิจระดับชาติที่เราไปด้วยกัน”

แม้วันนี้จะบริหารจัดการผลผลิตกล้วยหอมได้ดีไม่มีของเหลือ แต่เขายังต้องการจะต่อยอดธุรกิจเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต หากวันหนึ่งผลผลิตล้นตลาด ล่าสุดในปีที่ผ่านจึงลงทุน 50 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานผลิตกล้วยแปรรูปได้สารพัดพร้อมเดินเครื่องในกลางปีนี้ โดยมีเป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออก เริ่มต้นจากจีน สหรัฐ ที่กำลังเจรจาคำสั่งซื้อ ก่อนจะส่งออกไปทั่วโลก

ล่าสุดทางจังหวัดปทุมธานีได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI-Geographical Indication)จาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา พื้นที่จังหวัดเป็นเกษตรท้องร่องมีผลผลิตเนื้อนิ่ม รสกลมกล่อม หากได้รับการรับรองGIเป็นแต้มต่อไปทำตลาดให้ผู้บริโภคต่างแดนมั่นใจผลผลิตที่ส่งออกไปมาจากแหล่งเพาะปลูกชั้นดีมีความอุดมสมบูรณ์ ของประเทศไทย

ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า เครื่องหมาย GI จะเป็นเครื่องหมายสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคจากแหล่งเพาะปลูกอู่ข้าวอู่น้ำของไทย ที่มีความพร้อมทางทรัพยากร ดิน น้ำ อากาศ เป็นแหล่งเพาะปลูกผลผลิตที่ดี ทำให้เกิดการรวมกลุ่มการเกษตรในพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าจากGI

“กล้วยหอมทองปทุมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีรสชาติความอร่อย โดยรูปทรงผลขนาดใหญ่ หน้าตัดกลม ปลายคอดเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวนวล ผลดิบสีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองทองนวล เนื้อเหนียวแน่น ไม่มีเม็ด รสชาติหอมหวานมาก และมีค่าความหวานตั้งแต่ 16 องศาบริกซ์ขึ้นไป”

------------------------------

พลิกเกษตรท้องร่องเป็นธุรกิจ

-บริหารจัดการตลาดนำผลิต

-เจ้าของสวนเจรจาต่อรองเอง

-รวมกลุ่มผลิตและการตลาด

-คัดเกรดแบ่งให้ขายได้ทุกลูก

-ใช้ GI สร้างมูลค่าจุดขายทำตลาด