‘พาณิชย์’ ถก ‘ก.เกษตร’ ผุดมาตรการจูงใจชาวสวน

‘พาณิชย์’ ถก ‘ก.เกษตร’ ผุดมาตรการจูงใจชาวสวน

"พาณิชย์" แยกแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร 2 กลุ่ม เล็งหารือกระทรวงเกษตรฯ ลดพื้นที่ปลูกปาล์ม ด้านนักวิชาการสถาบันคลังสมองชี้ทิศทางราคาสินค้าเกษตรปีนี้ทรงตัว เผยดีเฉพาะข้าวหอม

ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และ ข้าวเปลือกเจ้า ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้ โดยสินค้าเหล่านี้เป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีราคาต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีผลต่อรายได้เกษตรกร และส่งผลต่อการบริโภคในภาพรวมของประเทศ

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การดูแลราคาสินค้าเกษตรในปีนี้จะต้องดูแยกเป็นกลุ่ม 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ราคาสินค้าเกษตรดีในขณะนี้ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ทำให้เกษตรกรพอใจเพราะราคาสูงกว่าปีที่แล้ว 2.กลุ่มราคาไม่ดี เช่น ปาล์มน้ำมัน และ ยางพารา โดยการแก้ปัญหาต้องมองระยะยาวและระยะสั้นควบคู่ด้วย ซึ่งนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นห่วงเรื่องนี้ และจากนี้ต้องพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจำกัดพื้นที่ปลูกและลดปริมาณผลผลิต รวมทั้งการมองเรื่องการผลิตควบคู่กับการตลาด

สำหรับกลุ่มที่มีปัญหาด้านราคา โดยเฉพาะปาล์มเป็นกลุ่มที่มีปัญหาราคาต้องดูว่าพื้นที่ปลูกมากเกินไปหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการโค่นต้นยางมาปลูกปาล์ม จึงต้องหารือกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มเพราะราคาตลาดโลกขณะนี้ไม่ดี และต้องหารือให้มีมาตรการจูงใจหรือช่วยชาวสวนลดพื้นที่ปลูก

แต่ชาวสวนก็ต้องเข้าใจว่าราคาปาล์มในประเทศอ้างอิงกับราคาตลาดโลก ซึ่งกรมการค้าภายในมีเครื่องมือไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบราคารับซื้อจากชาวสวน โดยให้โรงกลั่นไบโอดีเซลซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดราคา 19 บาท ซึ่งสอดคล้องกับตลาดโลกจะทำให้โรงสกัดซื้อปาล์มจากชาวสวนราคาที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ราคาปาล์มที่ไม่ดีที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกตกต่ำ ขณะนี้ราคา 19.50 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าเทียบกับต้นปีที่แล้วราคาสูงถึง 30 บาท และเมื่อราคาตลาดโลกลงมาก็ส่งผลให้ราคารับซื้อผลปาล์มดิบของโรงสกัดลดลงตามกลไกตลาด ซึ่งขณะนี้ภาครัฐพยายามดูแลให้ราคาผลปาล์มสอดคล้องกับตลาดโลก ถ้าผลปาล์มอยู่ในราคา 3.30 บาท ถือว่าสอดคล้องกับตลาดโลกและสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

สินค้าเกษตรปีนี้ดีเฉพาะข้าวหอม

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผยว่า ภาพรวมของราคาพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2561 ทิศทางราคาจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ยกเว้นข้าวหอมมะลิที่ราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการของผู้นำเข้าแอฟริกาและสหรัฐที่นิยมบริโภคข้าวชนิดนี้เพิ่มขึ้น โดยราคาข้าวหอมมะลิจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 14,000–17,000 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีราคา 9,000–12,000 บาทต่อตัน

ส่วนราคาข้าวขาว 5% ที่ปลูกในเขตชลประทานของไทยคาดว่าราคาเฉลี่ยจะปรับขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อยตันละ 100–200 บาท โดยราคาจะอยู่ที่ 7,700–7,800 บาทต่อตัน ซึ่งการที่ราคาข้าวไม่ถึง 8,000 บาทต่อตัน มาจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านปลูกข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งกัมพูชา เวียดนาม โดยเฉพาะเมียนมาที่เพิ่มการส่งออกข้าวจาก 2 ปีก่อนที่ส่งออกข้าวขาวเพียง 1 ล้านตันแต่ปัจจุบันส่งออกข้าวแล้วกว่า 2 ล้านตัน

ทั้งนี้ การช่วยเหลือชาวนาในสภาวะที่ราคาข้าวขาวทรงตัวและไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 1–2 ปีข้างหน้า รัฐบาลคงเพิ่มการช่วยเหลือไม่ได้นัก จากปัจจุบันที่มีการช่วยปัจจัยการผลิตและช่วยลดต้นทุนให้ชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่งการช่วยเหลือลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะไม่ใช่การแทรกแซงการตลาด

นอกจากนี้ ระยะยาวรัฐต้องเพิ่มการช่วยเหลือให้ชาวนารายย่อยที่มีที่นา 20 – 25 ไร่ ให้ทำเกษตรผสมผสาน เน้นการปลูกพืชทางเลือก พืชระยะสั้น ทำอาชีพเสริมที่มีรายได้ดี เช่น เลี้ยงปลา ขณะที่ชาวนาแปลงใหญ่ต้องใช้เครื่องจักรมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง

เสนอแปรรูปเพิ่มมูลค่าส่งออกยาง

สำหรับยางพาราที่ตกต่ำมีปัญหาจากผลผลิตมากกว่าความต้องการในช่วง 4–5 ปี ที่ผ่านมา ราคายางสูงถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ปลูกยางมากขึ้นมีน้ำยางเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านตันเป็น 4 ล้านตัน และราคาสูงในอดีตทำให้ประเทศอื่นเพิ่มพื้นที่ปลูกด้วย เช่น จีน เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งเมื่อซัพพลายเพิ่มขึ้นแต่ยังคงขายแต่น้ำยางดิบ จึงต้องมาดูเรื่องการเพิ่มมูลค่าให้จริงจัง ขณะที่การลดพื้นที่ปลูกยางควรส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้ผลที่มีแนวโน้มราคาดีแทน

ผลผลิตที่ออกมากจะกดดันราคายางพาราไม่ให้สูงขึ้น และปีนี้การพยุงราคาให้ไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าเหนื่อยแล้ว การจะกลับไปที่ 100 บาท เป็นเรื่องยากอาจต้องใช้เวลาอีก 4–5 ปี ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการโค่นยางเพื่อหวังให้ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจแก้ปัญหาไม่ได้มากนัก เพราะเป็นแค่การลดผลผลิตจากไทย แต่ผลผลิตจากประเทศอื่นไม่ได้ลดลง วิธีการนี้จึงพยุงราคาระยะสั้น แต่ระยะยาวต้องเพิ่มมูลค่ายางอย่างจริงจังเหมือนที่มาเลเซียทำสำเร็จที่แปรรูปน้ำยางดิบจากไทย

การแก้ปัญหาสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาวหนีไม่พ้นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งต้องทำอย่างจริงจังไม่ใช่มีแค่แผน เพราะประเทศเรามีผลผลิตทางการเกษตรมาก แต่สินค้าหลายอย่างเราทำแค่ขั้นต้น แล้วขายวัตถุดิบไปให้ที่อื่นเพิ่มมูลค่า ซึ่งหากเราไม่ทำอนาคตเราจะไม่สามารถเป็นผู้นำทางการเกษตรได้ในภูมิภาคเพราะขณะนี้หลายประเทศที่เคยตามหลังเราเริ่มหันมาทำเรื่องนี้แล้ว เช่น กัมพูชามีการลงทุนโรงงานไบโอพลาสติกจากมัน

ค้านหยุดกรีด-ชะลอส่งออกยาง

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไทยรับเบอร์ลาเทคซ์คอร์เปอร์เรชั่น(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการชะลอส่งออกยางของผู้ผลิต 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ทำให้การส่งออกยางไทยลดลงอย่างน้อย 10 % และยังไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการให้ราคาในประเทศสูงขึ้น เพราะผู้ส่งออกลดการรับซื้อยางจากเกษตรกรเช่นกัน แต่ความต้องการของผู้นำเข้าไม่ได้ลดลงและซื้อกับประเทศอื่นแทน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา

“ผมเคยค้านมาตรการนี้ในสมัยที่เป็นกรรมการบริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ แต่ไม่มีใครเห็นด้วย วิธีการนี้ทำให้ประเทศอื่นได้ประโยชน์เพราะมีประเทศปลูกยางมากขึ้น และจีนสั่งซื้อยางจากประเทศไหนก็ได้ และเมื่อส่งออกไม่ได้สุดท้ายก็ไปกดราคาเกษตรกร“

แนะพัฒนาข้าวนุ่มแข่งเวียดนาม

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ช่วงนี้รัฐบาลคงไม่ต้องออกแรงอะไรในการดูแลราคาข้าว เพราะราคาข้าวหอมมะลิในตลาดค่อนข้างดีมากอยู่ที่ 17,000 บาทต่อตัน ส่วนข้าวขาวอยู่ที่ 8,000-8,500 บาทต่อตัน เป็นราคาที่เกษตรกรรับได้ แต่ไม่ควรนำราคานี้ไปเปรียบเทียบกับราคาช่วงที่มีการรับจำนำข้าว เพราะไม่ใช่ราคาตามกลไกตลาด

ทั้งนี้ ราคาข้าวในปัจจุบันดีแต่รัฐบาลควรมองการพัฒนาที่จะเพิ่มมูลค่าของข้าว โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ต้องปรับปรุงตลอดเวลา ซึ่งเอกชนได้นำเสนอต่อภาครัฐในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนุ่ม ที่กำลังได้รับความนิยมมากในขณะนี้ โดยเวียดนามพัฒนาพันธุ์ข้าวไปก่อนไทย ดังนั้นไทยควรมีพันธุ์ข้าวชนิดนี้ไปแข่งขันกับเวียดนาม เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวนี้ถูกปากคนเอเชียไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และลูกค้ากลุ่มนี้ยอมซื้อข้าวในราคาสูงขึ้น

ราคาข้าวขาวอยู่ที่ 420 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ข้าวนุ่มของเวียดนาม 500 ดอลลาร์ต่อตัน ถ้าไทยมีข้าวพันธุ์นี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนทำให้มีผลผลิตข้าวออกมาคละกัน จึงต้องมีการแบ่งโซนนิ่งให้ชัดเจน แม้ว่าไทยจะพัฒนาข้าวนุ่มช้าแต่ดีกว่าไม่ทำอะไร

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ