คาดกรอบเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.05-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ

คาดกรอบเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.05-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ

กสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.05-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาในประเด็นทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 

บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ระบุ เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบค่อนข้างจำกัด โดยแม้เงินบาทจะมีปัจจัยกดดันระหว่างสัปดาห์จากทิศทางที่อ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคท่ามกลางการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน แต่กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทก็ยังคงค่อนข้างจำกัด เนื่องจากยังได้รับแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ ทิศทางภาพรวมของเงินดอลลาร์ฯ เองก็ยังคงถูกถ่วงด้วยความกังวลเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในวันพฤหัสบดี (5 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (30 มี.ค.)  


สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-12  เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.05-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับการเจรจาในประเด็นทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการเปิดเผยออกมาด้วยเช่นกัน ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาส่งออกนำเข้าเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. (เบื้องต้น) นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมี.ค. ของจีน รวมถึงรายงานการประชุมเฟดเมื่อเดือนมี.ค. และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ 
ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,739.92 จุด ลดลง 2.05% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันขยับขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.70% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 64,211.43 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 475.56 จุด ลดลง 3.08% จากสัปดาห์ก่อน


สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงอย่างหนักในระหว่างสัปดาห์ ด้วยแรงกดดันในหุ้นกลุ่มธนาคาร ท่ามกลางความกังวลต่อผลประกอบการในระยะข้างหน้า ประกอบกับหุ้นกลุ่มพลังงาน ยังได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ดัชนี SET กลับมาฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ในช่วงปลายสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากความหวังต่อการเจรจาเพื่อลดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (9-12 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,725 และ 1,710 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,750 และ 1,760 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ประเด็นต่อเนื่องของมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการปรับพอร์ตของนักลงทุนก่อนช่วงวันหยุดยาวของตลาดในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. ของยูโรโซน และอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของจีน