เตือนมี.ค.-พ.ค. ระวังเด็กจมน้ำ เหตุตรงกับช่วงปิดเทอม-ฤดูร้อน

เตือนมี.ค.-พ.ค. ระวังเด็กจมน้ำ เหตุตรงกับช่วงปิดเทอม-ฤดูร้อน

กรมควบคุมโรคเตือนมี.ค.-พ.ค. ระวังเด็กจมน้ำ เหตุตรงกับช่วงปิดเทอมและช่วงฤดูร้อน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์เด็กจมน้ำ ปี 2561 (วันที่ 1 มกราคม – 28 มีนาคม 2561) พบเด็กจมน้ำ 12 เหตุการณ์ เสียชีวิต 21 ราย บาดเจ็บ 12 ราย โดยช่วงปิดเทอมปีนี้ผ่านมา 28 วัน (1 -28 มีนาคม 2561)  มีเด็กจมน้ำ 6 เหตุการณ์ เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 6 ราย เกือบทั้งหมดเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5-13 ปี

จากข้อมูล 10 ปีย้อนหลัง (ปี 2551-2560) มีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 957 คนต่อปี หรือวันละเกือบ 3 คน ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและช่วงฤดูร้อน โดยแหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำและเสียชีวิตมากที่สุด คือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ร้อยละ 44.9 และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น

เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูร้อนและอยู่ในช่วงปิดเทอม เด็กๆ มักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงอาจมีเหตุการณ์ที่เด็กตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้  กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงนี้ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง และขอให้ทุกชุมชนดำเนินการดังนี้ 1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 2.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง 3.จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง (ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้) และ 4.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ "ตะโกน โยน ยื่น" ได้แก่ ข้อ 1.ตะโกน คือ เรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ข้อ 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ ข้อ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ