สนข.ต่อยอดระบบตั๋วร่วม เน้นเพิ่มศักยภาพขนส่งมวลชน

สนข.ต่อยอดระบบตั๋วร่วม เน้นเพิ่มศักยภาพขนส่งมวลชน

สนข.ชี้ระบบตั๋วร่วม เพิ่มความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อการเดินทาง ด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบให้กับประชาชน ด้วยบัตรเพียงใบเดียว

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ.สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อ “เพิ่มความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบให้กับประชาชน ด้วยบัตรเพียงใบเดียว” และยังสามารถต่อยอดการใช้งานไปยังภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาคการขนส่งในอนาคตอีกด้วย

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 รับทราบแนวทางการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในปี 2560-2561 โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ในการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company: CTC) ซึ่งการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในระยะเริ่มต้นนั้น สำนักธุรกิจบัตรโดยสารของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (CTC) และมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์ทางธุรกิจ (Business Rule) สำหรับการใช้ตั๋วร่วมของผู้ให้บริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเจรจากับผู้ให้บริการต่างๆ ในระบบตั๋วร่วม และลงนามในข้อตกลงกับผู้ให้บริการ (Service Provider Agreement) ซึ่งจะคำนึงถึงรูปแบบการให้บริการที่ตรงกับความต้องการของผู้โดยสาร และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

โดย สนข. ให้สิทธิ รฟม. ในการใช้ระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) โดยทำสัญญาหรือหนังสือข้อตกลงระหว่าง สนข. กับ รฟม. เพื่อบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบฯ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและวัตถุประสงค์ของสัญญาหรือข้อตกลงการบริหารจัดการระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) โดยให้ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย

​นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ รฟม. ได้เสนอเทคโนโลยีบัตรแบบ EMV (Euro.Master.Visa) Contactless Smart Card (Open Loop) กับระบบตั๋วร่วม โดยปรับแนวทางการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ตามแนวทางการศึกษาเดิมที่จะเริ่มใช้งานตั๋วร่วมแบบระบบปิด (Close Loop Mangmoom 2.0) ก่อน แล้วจึงพัฒนายกระดับเป็นแบบระบบเปิด (EMV : Mangmoom 4.0) ในระยะต่อไป เป็นเสนอให้พัฒนาและใช้งานตั๋วร่วมแบบระบบเปิด (EMV : Mangmoom 4.0) ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการใช้ระบบเปิดแบบ EMV จะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพัฒนาระบบใกล้เคียงกับระบบปิดแบบเดิมแต่ใช้งบประมาณในการดำเนินงานน้อยกว่า
​​
ข้อดีของการใช้ระบบเปิด (EMV : Mangmoom 4.0) ต่อประชาชน

1) เพิ่มความสะดวกมากขึ้นในการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยสามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตระบบ EMV ที่มีอยู่แล้วมาใช้บริการได้ทันที โดยไม่ต้องมีบัตรเงินสดเพิ่มเติม
2) ลดภาระในการเติมเงินลงในบัตรล่วงหน้า เนื่องจากจะเปลี่ยนเป็นการชำระเงินตามรอบใน แต่ละเดือนหลังการใช้งาน
3) เพิ่มความปลอดภัยในกรณีบัตรหายเนื่องจากไม่มีจำนวนเงินสดเก็บอยู่ในบัตร สามารถอายัด บัตร EMV ได้ทันที
4) ค่าใช้จ่ายการเดินทางลดลง ด้วยระบบ Guarantee Minimum Fare ที่ใช้การหักค่าใช้จ่ายการเดินทางรายเที่ยว เป็นตั๋วรายวันหรือรายสัปดาห์โดยอัตโนมัติ ตามยอดการใช้จ่าย
5) สามารถรับผลประโยชน์จากนโยบายของภาครัฐในการลดค่าโดยสาร

​​ข้อดีของการใช้ระบบเปิด (EMV : Mangmoom 4.0) ต่อหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม : CTC (รฟม.)

1) ลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและจำหน่ายบัตร ค่าบริหารจัดการบัตร เติมเงิน และค่าบริหารจัดการบัตรโดยรวม ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงด้านต้นทุนการดำเนินงาน
2) สามารถเก็บค่าธรรมเนียม (Transaction Fee) ในอัตราที่ต่ำลง (0.8%) จึงช่วยลดภาระของผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้เกิดการเข้าร่วมในระบบตั๋วร่วมเพิ่มขึ้นในวงกว้าง
3) มีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จากที่มีผู้ถือบัตรเครดิต บัตรเดบิต ในปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4) มีสถาบันทางการเงินเข้าร่วมเป็นผู้ออกบัตรจำนวนมาก สามารถตัดลดภาระใน การประชาสัมพันธ์บัตร
5) ลดค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง Front End และค่าบริหารจัดการระบบด้วย
6) การดำเนินนโยบายด้านค่าโดยสารร่วม และการตอบสนองนโยบายภาครัฐในด้านการลดค่าโดยสารต่างๆ สามารถทำได้ง่ายและสะดวก