‘แอร์พอร์ตลิงค์’ เสริมรถ แก้ปัญหาแออัดขั้นวิกฤติ

‘แอร์พอร์ตลิงค์’ เสริมรถ แก้ปัญหาแออัดขั้นวิกฤติ

"อาคม" สั่งเดินรถไฟดีเซลราง ลาดกระบัง-หัวลำโพง ตั้งแต่วันนี้ เร็วกว่าแผนเดิมที่จะเปิดให้บริการในเดือน พ.ค. เพื่อเร่งลดปัญหาแอร์พอร์ตลิงค์แออัดเข้าขั้นวิกฤติ โดยเรียกเก็บค่าโดยสาร 10-20 บาท/เที่ยว รองรับผู้โดยสารได้เพิ่ม 1.2 พันคน

นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เปิดเผยว่า เนื่องจากในปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น วันจันทร์-วันศุกร์ ที่มีผู้โดยสารต้องการใช้บริการเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร และเป็นไปตามนโยบาย One Transport One Family บริษัทฯ จึงได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในการเพิ่มช่องทางการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร โดยการรถไฟฯ จะนำรถไฟดีเซลรางจำนวน 6 ตู้ แบ่งเป็นตู้ปรับอากาศจำนวน 2 ตู้ และตู้ธรรมดาจำนวน 4 ตู้ ให้บริการในวันจันทร์-วันศุกร์ ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าจำนวน 1 เที่ยว ออกจากสถานีลาดกระบังไปสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในเวลา 07.45 น. และให้บริการในช่วงเวลาเร่งด่วนเย็นจำนวน 1 เที่ยว ออกจากที่หยุดรถพญาไทไปสถานีลาดกระบัง เวลา 18.45 น.

การเดินทางช่วงระหว่างสถานีลาดกระบัง-ที่หยุดรถพญาไท จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที ซึ่งรถไฟ 1 เที่ยวสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 600 คน โดยจะเก็บค่าโดยสารตู้ปรับอากาศ 20 บาทต่อเที่ยว ส่วนตู้ธรรมดาราคา 10 บาทต่อเที่ยว เริ่มให้บริการวันนี้ (30 มี.ค.) เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมการรถไฟฯ และรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จะนำรถไฟออกมาวิ่งเสริมเพื่อแก้ไขปัญหาความแออัดของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงค์ในเดือน พ.ค. แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้เปิดบริการทันทีในวันนี้ (30 มี.ค.) เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความหนาแน่นของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ที่วิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ

การเปิดให้บริการรถไฟดีเซลรางรอบปฐมฤกษ์ในวันนี้ (30 มี.ค.) จะมีนายไพรินทร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมโดยสารขบวนรถจากสถานีลาดกระบังไปยังสถานีหัวลำโพงด้วยในเวลา 7.45 น.

สำหรับปัญหาความแออัดของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันธรรมดามียอดผู้โดยสารเฉลี่ย 7 หมื่นคน วันศุกร์มียอดสูงถึงวันละ 7.8 หมื่นคน และวันเสาร์-อาทิตย์อยู่ที่ 50,000 คนต่อวัน พร้อมคาดว่าในปีนี้จำนวนผู้โดยสารจะขยายตัวอีก 10% แต่ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของแอร์พอร์ต เรลลิงค์อยู่ที่วันละ 7.2 หมื่นคนเท่าเดิม เพราะไม่สามารถจัดซื้อขบวนรถใหม่ได้
อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเจรจาขอปรับปรุงตู้ขนส่งสัมภาระ 4 ตู้ เป็นตู้ขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงค์มีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 1.1 หมื่นคนต่อวัน เป็น 8.3 หมื่นคนต่อวัน โดยตั้งเป้าจะปรับปรุงตู้แรกให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2561 แต่พบว่ายังมีปัญหาในขั้นตอนการเจรจา