กสทฯปิดดีลสัญญาเช่าอุปกรณ์'ดีแทค'ก.ค.นี้

กสทฯปิดดีลสัญญาเช่าอุปกรณ์'ดีแทค'ก.ค.นี้

เดินเครื่องสัญญาเช่าอุปกรณ์ไอที-อินฟราสตรัคเจอร์กับดีแทคทันทีที่จบสัมปทานก.ย. ระบุตอนนี้เหลือแค่ตกลงเทอมการจ่ายค่าเช่า คาดเม.ย.ชงเรื่องเข้าบอร์ด จากนั้นส่งม.43 พิจารณา ก่อนให้อัยการสูงสุดตรวจสัญญา มั่นใจภายในก.ค.ลงนามกับเอกชนได้

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายบริหารกสทฯได้หารืออย่างต่อเนื่องกับบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เพื่อร่างสัญญาเช่าอุปกรณ์ไอที โครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์) คลื่น 1800 และ 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 8,000 สถานีฐาน ทันทีที่กสทฯได้รับส่งมอบอุปกรณ์ทั้งหมดจากดีแทคภายใต้สัญญาสัมปทานตามเงื่อนไขสร้าง-โอน-บริการ (บีทีโอ) โดยขณะนี้ ขั้นตอนการหารือในเรื่องอัตราค่าเช่าทั้งหมดได้ข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นแล้ว เหลือเพียงเทอมในการชำระ และระยะยาวเวลาในการเช่า ว่าจะมีลักษณะใด 
โดยความเห็นส่วนตัวคาดว่า สัญญาร่วมกับดีแทคจะนำวาระเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) ในเดือนเม.ย. หลังจากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมาตร 43 แห่งพ.ร.บ.ร่วมทุนในกลางเดือนพ.ค. และจากนั้นนำหนังสือสัญญาในสำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งสุดท้ายแล้วคาดว่าในเดือนก.ค. กสทฯและดีแทคจะสามารถลงนามในสัญญาดังกล่าวได้ ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับดีแทคในวันที่ 16 ก.ย.2561 นั้น
และหลังจากนั้นกสทฯก็จะเริ่มขั้นตอนการเจรจากับกลุ่มทรูฯในการทำสัญญาเช่าอุปกรณ์เช่นเดียวกันอีกครั้ง ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังสัญญากับดีแทคอีก 2-3 เดือน ดังนั้น หากตามแผนงานการให้เอกชนมาเช่าอุปกรณ์ไอที และโครงสร้างพื้นฐาน จะช่วยทำให้ผลประกอบการของกสทฯในปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และมีราบได้รวม 52,000 ล้านบาท จากปี 2560 ขาดทุนสุทธิมากถึง 2,400 ล้านบาท
เขา เสริมว่า การเตรียมความพร้อมดังกล่าวก็เพื่อทำให้องค์กรมีความแข่งแกร่งในระยะยาว และสามารถอยู่รอดได้ในช่วงการเปลี่ยนเทคโนโลยี (ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น) โดยนอกจากการเป็นพันธมิตรกับเอกชนเพื่อหารายได้เข้าองค์กรให้ยั่งยืน ในเรื่องของโครงสร้างภายในกสทฯเองก็ต้อง มีการปรับตัวในด้านบุคลากร และกาาเสริมสร้างพัฒนาพนักงานให้มีทักษะด้านไอทีดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้น
พร้อมกันนี้ กสทฯจึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในความร่วมมือการดําเนินงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ และมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งเน้นภารกิจด้านงานวิจัยที่มีคุณค่าและมีความหมาย สร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ และการผลิตบัณฑิตที่เก่งและดีมีคุณภาพสู่สังคม ความร่วมมือกับกสทฯ  
โดย มจธ. มีความพร้อมทั้งในส่วนขององค์ความรู้และบุคลากรในการสนับสนุนความร่วมมือทางด้านวิชาการ งานวิจัยด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และที่สำคัญคือ มจธ.ได้รับการรับรองจาก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพด้านโทรคมนาคมแห่งแรกและยังเป็นแห่งเดียวของประเทศในปัจจุบัน และอยู่ในระหว่างการยื่นขอมาตรฐานอุตสาหกรรม(ISO17024) ในการรับรองผู้มีทักษะฝีมือในระดับมืออาชีพด้านเครือข่ายใยแก้วนำแสง (ไฟเบอร์ ออฟติก) และด้านรับส่งคลื่นวิทยุ (เรดิโอ เบสสเตชั่น) ความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถพัฒนานักศึกษา วิศวกร ผู้ชำนาญการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสร้างบุคลากรระดับมืออาชีพให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมขยายฐานความร่วมมือของภาคการศึกษาและผู้ประกอบการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

"มจธ.จะมาช่วยผลักดันการดำเนินงานของ มจธ. เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ซึ่งในจากความร่วมมือนี้ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่กสทฯ พร้อมจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศได้ในอนาคต"กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ ระบุ