เอสซีจีแพ็คเกจจิ้งตั้งเป้า ปี'61 โต 7%

เอสซีจีแพ็คเกจจิ้งตั้งเป้า ปี'61 โต 7%

เอสซีจี แพ็คเกจจิ้ง มุ่งขยายตลาดอาเซียน คาดยอดขายโต 7% มูลค่ากว่า 8.1 หมื่นล้านบาท พร้อมปรับแผนการตลาด เน้นการทำงานใกล้ชิดลูกค้า

นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี แพ็คเกจจิ้ง เปิดเผยว่า แนวโน้มการตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่ยังคงมีการเติบโตทั้งในไทย และในอาเซียน ซึ่งมีมูลค่าตลาดทั้งโลกในปี 2561 รวม 9.3 แสนล้านดอลลาร์ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3% ในขณะที่ตลาดอาเซียนมีมูลค่า 5.05 หมื่นล้านดอลลาร์ เติบโตประมาณ 5%

ส่วนตลาดแพ็คเกจจิ้งของไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมแพ็คเกจจิ้งทั้งหมด ตั้งแต่กระดาษ พลาสติก โลหะ และแก้ว โดยแพ็คเกจจิ้งของ เอสซีจี จะอยู่ในกลุ่มกระดาษและพลาสติก โดยในปีที่ผ่านมามียอดขายรวม 81,455 ล้านบาท โดยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตตามค่าเฉลี่ยของกลุ่มประมาณ 7% สูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดไทยที่ขยายตัว 3.5% โดยในกลุ่มแพ็กเกจจิ้งของเอสซีจี จะแบ่งออกเป็นการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ ประมาณ 71% บรรจุภัณฑ์พลาสติก 7% กระดาษขาว และเยื่อกระดาษ 22%

นอกจากนี้ กลุ่มแพ็คเกจจิ้ง เอสซีจี ยังได้ออกไปลงทุนตั้งโรงงาน และซื้อกิจการในอาเซียน ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ใช้งบลงทุนซื้อกิจการทั้งสิ้น 2.6 พันล้านบาท ในการซื้อโรงงานในอาเซียน 4 โรง โดยมีฐานการผลิตที่สำคัญในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยสัดส่วนรายได้จากตลาดอาเซียน ทั้งในส่วนของสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปอาเซียน และสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในอาเซียนจะมีมูลค่ารวมประมาณ 30% ของยอดขายกลุ่มแพ็คเกจจิ้ง

“เอสซีจี จะบริหารจัดการโรงงานต่างๆของไทยและอาเซียนให้ทำงานร่วมกันเพื่อลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด โดยจะให้โรงงานแต่ละแห่งผลิตสินค้าหลักเพียงไม่กี่ชนิด เพื่อลดขั้นตอน เวลา ในการปรับเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น โรงงานที่ไทยมีเครื่องจักรพิมพ์สีที่ทันสมัย ก็จะพิมพ์กระดาษเคลือบสีส่งไปยังเวียดนามจัดทำเป็นกล่องกระดาษแพ็คเกจจิ้งต่อไป เป็นต้น”

ส่วนในปีนี้ได้เตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการซ่อมแซมปรับปรุงเครื่องจักร ด้านการลงทุนซื้อกิจการก็ยังมองหาโอกาสที่น่าสนใจอยู่ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกความชัดเจนได้

นายธนวงษ์ กล่าวว่า เอสซีจียังได้มุ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเพื่อนคู่คิดทางธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร และสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับลูกค้าและผู้บริโภค ด้วยการปรับเปลี่ยนทุกกระบวนการให้สอดคล้องและตอบรับความต้องการ ตั้งแต่ระบบการคิด วิธีการทำงาน และการส่งมอบสินค้าและบริการไปยังลูกค้า

โดยจะมุ่งเน้นการทำงานแบบใกล้ชิดลูกค้า เนื่องจากยิ่งใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้เห็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะจะพบความท้าทายต่างๆ เช่น ได้พบว่าลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ชนิดเดียวอีกต่อไป และเทรนด์ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ที่น่าจับตามองของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มุ่งเน้นความยั่งยืน ที่มีส่วนช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป โดยหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้บรรจุภัณฑ์เติบโตไปด้วย ส่วนแนวโน้มกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ (B2B) เอง จะมุ่งเน้นทางด้านประสิทธิภาพการผลิตและด้านต้นทุน จึงมีการพัฒนากระดาษที่มีแกรมบางลงในขณะที่คุณภาพแข็งแรงเท่าเดิม และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ลูกฟูกที่ช่วยลดเวลาในการจัดเรียงสินค้าขึ้นชั้นวางจำหน่ายในห้างร้าน